Wednesday, January 22, 2014

เภสัชกรรมไทย สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน (มะนาว-อ้อยแดง)

เภสัชกรรมไทย
สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน 
(มะนาว-อ้อยแดง)



จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

เภสัชกรรมไทย
สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณุมูลฐาน 

(มะนาว - อ้อยแดง)

มะนาว

 

ชื่อท้องถิ่น ส้มมะนาว, มะลิว (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Citrus × aurantiifolia


ลักษณะของพืช เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีหนามตามต้น ก้านใบสั้น ตัวใบรูปร่างกลมรี สีเขียว ขอบใบหยักเล็กน้อย ปลายและโคนใบมน ขยี้ใบดมดู มีกลิ่นหอม ดอกเล็กสีขาวอมเหลือง มีกลิ่น

หอมอ่อนๆ ผลกลมเปลือกบางเรียบ น้ำมาก รสเปรี้ยวจัด เปลือกผลมีน้ำกลิ่นหอม รสขม

ส่วนที่ใช้เป็นยา เปลือก และน้ำของลูกมานาว

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ช่วงผลสุก

รส และสรรพคุณยาไทย เปลือกผล รสขม ช่วยขับลม น้ำมะนาวรสเปรี้ยวจัด เป็นยาขับเสมหะ เมื่อก่อนตามชนบทเมื่อเด็กหกล้มหัวโน 
จะใช้น้ำมะนาวผสมกับดินสอพองโปะบริเวณที่หัวโนจะทำให้เย็น 
และยุบลง

วิธีใช้ เปลือกมะนาว และน้ำมะนาวใช้เป็นยาได้โดยมีรายละเอียดการใช้ดังนี้

1. เปลือกมะนาว รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด ให้นำเอาเปลือกของผลสดประมาณครึ่งผล คลึง หรือทุบเล็กน้อยพอให้น้ำมันออก ชงน้ำร้อนดื่มเวลามีอาการ

2. น้ำมะนาว รักษาอาการไอ และขับเสมหะ
ใช้ผลสดคั้นน้ำจะได้น้ำมะนาวเข้มข้น และใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ หรือจะทำเป็นน้ำมะนาว ใส่เกลือ และน้ำตาล ปรุงให้รสจัดสักหน่อยดื่มบ่อยๆ ก็ได้
------------------------------------------------------

มะพร้าว



มะพร้าว

ชื่อท้องถิ่น ดุง (จันทบุรี), โพล (กาญจนบุรี), คอล่า (แม่ฮ่องสอน) หมากอุ๋น หมากอูน (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์Cocos nucifera


ลักษณะของพืช มะพร้าว เป็นไม้ยืนต้นสูงถึง 20 – 30 เมตร ใบออกเรียงซ้อนกันเป็นกระจุกอยู่ที่ยอดใบ เป็นใบประกอบรูปขนนก ก้านใบยาว ใบยาวแคบ หนา เนื้อเหนียว สีเขียว ใบประกอบย่อยแตกจากแกนใหญ่เป็นคู่จำนวนมาก ดอกออกช่อมีสีเหลืออยู่ในระหว่างซอกใบ ผลมีรูปร่างทรงกลมหรือกลมรี ผลอ่อนสีเขียว (หรือเหลือง) ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ เปลือกนอกเรียบ ชั้นกลางเป็นเส้นใยเนื้อนุ่ม ถัดไปเนื้อแข็งเรียกว่า กะลา จากนั้นจึงถึงเนื้อนุ่ม สีขาว รสมัน ข้างในมีน้ำใสรสหวาน ชอบที่ดินปนทราย ปลูกได้ทั่วไปปลูกมากทางภาคใต้

ส่วนที่ใช้เป็นยา น้ำมันมะพร้าว

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บในช่วงผลแก่ และนำมาเคี่ยวเป็นน้ำมัน

รส และสรรพคุณยาไทย รสมัน ทาแก้ปวดเมื่อย และขัดตามเส้นเอ็น เจือกับยาที่มีรสฝาด รักษาบาดแผลได้

วิธีใช้ ใช้น้ำมะพร้าว มาปรุงเป็นยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก 

วิธีใช้ทำได้โดยการนำเอาน้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน ใส่ในภาชนะคนพร้อมๆ กับเติมปูนใส 1 ส่วน โดยเติมทีละส่วนพร้อมกับคนไปด้วยคนจนเข้ากันดี แล้วใช้ทาที่แผลบ่อยๆ

----------------------------------------------------

มะแว้งเครือ



มะแว้งเครือ

ชื่อท้องถิ่น มะแว้งเถา (กรุงเทพฯ) แคว้งเคีย (ตาก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum trilobatum L. 

ลักษณะของพืช มะแว้งเครือ เป็นไม้เลื้อยหรือไม่พุ่ม มีหนามตามส่วนต่างๆ ใบรูปกลมรี ขอบใบหยักเว้า 2 – 5 หยัก ผิวใบอาจเรียบหรือมีหนามเล็กๆ ตามเส้นกลางใบ ดอกออกเป็นช่อ คล้ายดอกมะเขือ มีสีม่วง เกสรสีเหลือง ผลกลม ตอนดิบสีเขียวมีลายเล็กน้อย สุกเปลี่ยนเป็นสีแดงสด

ส่วนที่ใช้เป็นยา ผลแก่สด

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ผลสุก

รส และสรรพคุณยาไทย รสขม เป็นยากัดเสมหะ

วิธีใช้ ใช้รักษาอาการไอ และขับเสมหะ นำเอาผลแก่สด 5 – 10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือรับประทานบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำ และเนื้อจนกว่าอาการจะดีขึ้น


---------------------------------------------------

มะแว้งต้น



มะแว้งต้น


ชื่อท้องถิ่น มะแว้งขม มะแว้งดำ (เหนือ), มะแว้งคม (สุราษฎร์ธานี – สงขลา), มะแว้ง แว้งขม (สงขลา สุราษฎร์ธานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์Solanum procumbens

ลักษณะของพืช
มะแว้งต้น เป็นไม้พุ่ม มีขน และหนามแหลม กระจายอยู่ทั่วไป ใบคล้ายใบมะเขือพวง ดอกออกเป็นช่อสีม่วงซีด ผลกลม เมื่อสุกสีส้ม

ช่วงเวลาที่ใช้เป็นยา
ผลแก่สด

รส และสรรพคุณยาไทย
รสขม เป็นยากัดเสมหะ

วิธีใช้ ใช้รักษาอาการไอ และขับเสมหะ นำเอาผลแก่สด 5 – 10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำ และเนื้อ กินบ่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น

------------------------------------------------------

มะหาด




แก่นมะหาด

กัอนปวกหาด

มะหาด

ชื่อท้องถิ่น หาด (กลาง), หาดใบใหญ่ (ตรัง), หาดขนุน (เหนือ), กาแย ตาแป ตาแปง (นราธิวาส)  ปวกหาด (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์Artocarpus lacucha

ลักษณะของพืช
มะหาด เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบแก่ มีรูปใบเป็นรูปไข่ หรือขอบขนานรี ริมใบเรียบ ดอกเป็นช่อสีเหลือง ลูกกลม

ส่วนที่ใช้เป็นยา แก่นต้นมะหาด

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ช่วงอายุต้นมะหาด 5 ปีขึ้นไป

รส และสรรพคุณยาไทย ปวกหาดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด ละลายกับน้ำทาแก้ผื่นคัน

วิธีใช้ ผงปวกหาด เตรียมได้โดยการเอาแก่นมะหาดมาต้มเคี่ยวด้วยน้ำ จะมีฟองเกิดขึ้น และช้อนฟองขึ้นมาตากแห้ง จะได้ผงสีเหลือง 
วิธีใช้ นำผงปวกหาดมาบดให้ละเอียด รับประทานกับน้ำสุกเย็น ครั้งละ 1 – 2 ช้อนชา (ประมาณ 3 – 5 กรัม) ก่อนอาหารเช้า หลังจากรับประทานผงปวกหาดแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ให้รับประทานดีเกลือ หรือยาถ่ายตาม ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือน

ข้อควรระวัง ห้ามรับประทานผงปากหาดกับน้ำร้อน จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้ 
--------------------------------------------------------

เพิ่มเติม
มะระขี้นก



มะระขี้นก

ชื่อท้องถิ่น  ผักเหย ผักไห่ มะร้อยรู มะห่วย มะโห่

ชื่อสามัญ  Bitter Cucumber
ชื่อวิทยาศาสตร์  Momordica charantia L.

ลักษณะของพืช เป็นไม้เถา มีมือเกาะ ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ เรียงสลับกัน ขอบใบเว้าลึก 5-7แฉก ดอกเดี่ยว แยกเพศ กลีบดอกสีเหลืองรูประฆัง ผลรูปกระสวย ผิวขรุขระ ดิบสีเขียว สุกสีส้ม

ส่วนที่ใช้ ผลอ่อน

ช่วงเวลาที่เก็บ เก็บเมื่อลูกยังเป็นสีเขียว

รส และสรรพคุณของยาไทย รสขม สรรพคุณ เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้โรคม้าม ตับ ขับพยาธิ

วิธีใช้  น้ำคั้นผลมะระขี้นกเป็นยาระบายอ่อนๆ อมแก้ปากเปื่อย ปากเป็นขุย

----------------------------------------------------------

มังคุด






มังคุด

ชื่อท้องถิ่น แมงคุด (ไทย)
ชื่อวิทยาศาสตร์Garcinia mangostana

ลักษณะของพืช มังคุดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบใหญ่หนาและแข็ง ดอกเป็นช่อ แบ่งได้เป็นดอกตัวผู้กับดอกตัวเมีย ดอกตัวผู้เป็นสีเหลืองอมแดง หรือสีม่วง ส่วนดอกตัวเมียสีชมพูเข้ม

ส่วนที่ใช้เป็นยา เปลือกผลแห้ง

รส และสรรพคุณยาไทย รสฝาด แก้ท้องเสีย บิด มูกเลือด ในชนบทมักใช้น้ำต้มเปลือกมังคุดล้างแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว

วิธีใช้ มังคุดใช้เป็นยารักษา

1. อาการท้องเสีย ใช้เปลือกผลตากแห้ง ต้มกับน้ำปูนใส 
หรือฝนน้ำดื่ม

2. บิด (ปวดเบ่ง มีมูก และอาจมีเลือดด้วย) ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ 1/2 ผล (4 กรัม)ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผงละลายน้ำข้าว (น้ำข้าวเช็ด) หรือน้ำสุกดื่มทุก 2 ชั่วโมง

------------------------------------------------------------

เพิ่มเติม
แมงลัก




แมงลัก


ชื่อท้องถิ่น มังลัก (กลาง), ก้อมก้อขาว (เหนือ)

ชื่อสามัญ Hairy basil

ชื่อวิทยาศาสตร์  Ocimum americanum Linn.

ลักษณะของพืช เป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 65 ซ.ม. ใบมีขนอ่อน มีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อที่ยอดหรือปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว ดอกติดรอบก้านช่อเป็นชั้นๆ กลีบดอกร่วงง่าย แต่กลีบเลี้ยงจะอยู่คงทน

ส่วนที่ใช้ เมล็ดแก่

ช่วงเวลาที่เก็บ เมล็ดแก่สีดำ

รส และสรรพคุณยาไทย รสหอมร้อน สรรพคุณ ระบายอุจจาระ (เมือกขาวทำให้ลื่น อุจจาระไม่เกาะลำไส้) 

วิธีใช้ ระบายอุจจาระ ใช้เมล็ด 1-2 ช้อนชา ล้างน้ำสะอาด แช่น้ำอุ่น 1 แก้ว (250 ซี.ซี.) จนพองตัวเต็มที่ รับประทานก่อนนอนจะช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น  
(ข้อควรระวัง คือ ถ้าเมล็ดแมงลักพองตัวไม่เต็มที่ จะทำให้ท้องอืด และอุจจาระแข็ง)

----------------------------------------------------------

                                    ยอ




ยอ

ชื่อท้องถิ่น ยอบ้าน (ภาคกลาง), มะตาเสือ (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์Morinda citrifolia

ลักษณะของพืช ยอ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบใหญ่หนาสีเขียว ดอกเล็กสีขาวเป็นกระจุก ผลกลมยาวรีมีตาเป็นปุ่มรอบผล ลูกอ่อนสีเขียวสด เปลี่ยนเป็นสีขาวนวลเมื่อสุก กลิ่นฉุน

ส่วนที่ใช้เป็นยา ผลดิบ หรือผลห่ามสด

รส และสรรพคุณยาไทย รสขมเล็กน้อย ผลยอแก้อาเจียน ขับลม บำรุงธาตุ

วิธีใช้
ตำราแพทย์แผนโบราณกล่าวว่า ใช้ผลยอหั่นปิ้งไฟพอเหลืองกรอบ ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยาใช้ร่วมกับยาอื่น แก้คลื่นไส้อาเจียนได้ผล ในการทดลองพบว่า ผลยอไม่มีพิษเฉียบพลัน และใช้เป็นอาหารจึงใช้เป็นยาแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่ไม่รุนแรงได้ เลือกเอาผลดิบหรือผลห่ามสด ฝานเป็นชิ้นบางๆ ย่างหรือคั่วไฟอ่อนๆ ให้เหลืองกรอบ ต้มหรือชงน้ำดื่ม ใช้ครั้งละ 2 กำมือ (11 – 15 กรัม) เอาน้ำที่ได่จิบทีละน้อย และบ่อยๆ ครั้ง จะได้ผลดีกว่าดื่มทีเดียว

----------------------------------------------------------

ย่านาง





ย่านาง


ชื่อท้องถิ่น จอยนาง (เชียงใหม่), เถาวัลย์เขียว (ภาคกลาง), เถาหญ้านางหญ้าภคินี (กลาง), จ้อยนาง (เชียงใหม่ , วันยอ (สุราษฎร์ธานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์Tiliacora triandra

ลักษณะของพืช ย่านางเป็นไม้เลื้อย รูปใบคล้ายรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียว แหลม โคนมน ดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ผลสีเหลืองแดง

ส่วนที่ใช้เป็นยา
รากแห้ง

รส และสรรพคุณยาไทย รากย่านางแก้ไข้ทุกชนิด

วิธีใช้ ากแห้งใช้แก้ไข้ โดยใช้ครั้งละ 1 กำมือ (หนัก 15 กรัม) ต้มดื่ม 3 ครั้งก่อนอาหาร

------------------------------------------------------------

เพิ่มเติม
เร่ว (เร่วใหญ่)

 




เร่ว (เร่วใหญ่)

ชื่อท้องถิ่น มะอี้ หมากอี้ (เชียงใหม่) หมากเน็ง (อีสาน) หมาดแหน่ง (สระบุรี) มะหมาก อี้ผาลา (ฉาน-เชียงใหม่)
ชื่อสามัญ Bastard cadamum Tavoy cadamum
ชื่อวิทยาศาสตร์  Amomum xanthioides Wall.


ลักษณะของพืช เป็นไม้ล้มลุก สูง 2-4 เมตร มีเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปเรียวปลายแหลม หรือขอบขนาน กว่าง 7 ซ.ม. ยาว 50 ซ.ม. ก้านใบสั้นมาก ดอกออกเป็นช่อ โดยตรงจากเหง้า ดอกเล็กมี ดอกย่อยสีขาว 15 ดอก ผลเมื่อสุกสีแดง คล้ายผลเงาะขนาดเล็กประมาณ 1.4 – 2 ซ.ม. มีเมล็ดสีน้ำตาล


ส่วนที่ใช้เป็นยา เมล็ดแห้ง

ส่วนเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บช่วงผลแก่

รส และสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดปร่า สรรพคุณ แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับผายลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

วิธีใช้  แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ปอกเปลือกผลเร่วออก ใช้เมล็ดบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 3 – 9 ผล (หนัก 1 – 3 กรัม) 
รับประทานวันละ 3 ครั้ง

------------------------------------------------------------

เล็บมือนาง





เล็บมือนาง

ชื่อท้องถิ่น จะมั่ง, จ๊ามั่ง, มะจีมั่ง (ภาคเหนือ), ไท้หม่อง (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์Combretum indicum

ลักษณะของพืช เล็บมือนางเป็นไม้เลื้อย เถาแก่เป็นไม้เนื้อแข็ง ใบรูปรีหรือรูปไข่ ปลายแหลม โคนใบมนดอกเป็บช่อสีขาว แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพู มีกลิ่นหอม ผลสีน้ำตาลแดงเป็นมัน มี 5 พู

ส่วนที่ใช้เป็นยา
เมล็ด

ส่วนเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บเมล็ดแก่ช่วงที่เป็นสีน้ำตาล

รส และสรรพคุณยาไทย รสเอียน เบื่อเล็กน้อย ใช้ขับพยาธิ
 
และตานทราง

วิธีใช้
เมล็ดเล็บมือนาง ใช้ถ่ายพยาธิไส้เดือน สำหรับเด็กใช้ 2 – 3 เมล็ด (หนัก 5 – 6 กรัม) ผู้ใหญ่ใช้ 5 – 7 เมล็ด (หนัก 10 - 15) ทุบพอแตก ต้มเอาน้ำดื่ม หรือหั่นทอดกับไข่รับประทาน

-------------------------------------------------------------

เพิ่มเติม
ว่านมหากาฬ


ว่านมหากาฬ

ชื่อท้องถิ่น ดาวเรือง (ภาคกลาง, ผักกาดกบ (เพชรบูรณ์),
หนาดแห้ง (โคราช), คำโคก (ขอนแก่น, เลย), 
ผักกาดนกเขา (สุราษฏร์ธานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura pseudochin DC. 

ลักษณะของพืช เป็นไม้ล้มลุก มีรากใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ เลื้อยทอดยาวไปตามดิน ชูยอดตั้งขึ้น ปลายยอดมีขนนุ่มสั้นปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงสลับวนเวียนรอบต้น รูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก หลังใบสีม่วงเข้ม มีขน เส้นใบสีเขียว ท้องใบสีเขียวแกมเทาดอกออกเป็นช่อ ที่ปลาย ยอด กลีบดอกสีเหลืองทอง ผลเป็นผลแห้งไม่แตก

ส่วนที่ใช้ ใบสด และหัวใต้ดิน

ช่วงเวลาที่เก็บ เก็บในช่วงที่ใบสมบูรณ์เต็มที่ ใบเพสลาด (ไม่อ่อน หรือแก่เกินไป)
รส และสรรพคุณยาไทย รสเย็น สรรพคุณ ใบสดใช้โขลกผสมเหล้าพอกฝีหรือหัวลำมะลอกทำให้เย็น ถอนพิษ บรรเทาปวดแสบ ปวดร้อน ใช้กิน ดับพิษมหากาฬ พิษร้อน ไข้ เซื่องซึม กระสับกระส่าย รักษาพิษอักเสบ

วิธีใช้ แก้ฝี และแผลพุพอง ใช้หัวมหากาฬตำพอก หรือฝนกับน้ำปูนใสทาบริเวณที่เป็นฝี และแผลพุพอง วันละ 3-4 ครั้ง


-----------------------------------------------------------

ว่านหางจระเข้




ว่านหางจระเข้

ชื่อท้องถิ่น ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ), หางตะเข้ (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์Aloe vera

ลักษณะของพืช ว่านหางจระเข้เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอัฟริกา เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสั้น ใบจะงอกขึ้นมาจากดินใบหนารูปร่างยาว ปลายแหลม ริมใบหยักและมีหนาม ใบสีเขียวใส และมีรอยกระสีขาว ภายในใยมีวุ้น และเมือกมาก ดอกออกจากกลางตัดก็ช่อๆ ก้านดอกยาวมาก ดอกเป็นหลอด ปลายแยก สีส้มแดงออกสีเหลืองเล็กน้อย

ส่วนที่ใช้เป็นยา วุ้นจากใบ

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บในช่วงอายุ 1 ปี

รสและสรรพคุณยาไทย รสจืดเย็น โบราณใช้ทาปูนแดงปิดขมับ แก้ปวดศีรษะ

วิธีใช้ วุ้นจากใบรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยเลือกใบที่อยู่ส่วนในล่างของต้น เพราะใบใหญ่ได้วุ้นมากกว่าใบเล็กปอกเปลือกสีเขียวออกด้วยมีดที่สะอาดล้างยากให้สะอาดด้วยน้ำต้มสุกหรือน้ำด่างทับทิมขูดเอาวุ้นใสมาพอกบริเวณแผล ทา 2 ครั้ง เช้า – เย็น จนกว่าแผลจะหาย ช่วยระงับความเจ็บปวดช่วยให้แผลหายเร็ว และไม่เกิดแผลเป็น วุ้นว่านหางจระเข้ยังใช้ทารักษาผิวไหม้ที่เกิดจากแดดเผาได้

ข้อควรระวัง ก่อนใช้ว่าน ทดสอบดูว่าแพ้ หรือไม่ โดยเอาวุ้นทาบริเวณท้องแขนด้านใน ถ้าผิวไม่คัน หรือแดงก็ใช้ได้

----------------------------------------------------------

สะแก





สะแก

ชื่อท้องถิ่น สะแกนา (ภาคกลาง), แก (ภาคอีสาน), ขอยแข้ จองแข้ (แพร่), แพ่ง (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Combretum quadrangulare Kurz

ลักษณะของพืช สะแกเป็นไม้ยืนต้นใบรูปไข่หรือรูปรีปลายใบมนหรือแหลม โคนใบเรียวเข้าหากัน ดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ผลเล็กมีปีกยื่น 4 พู

ส่วนที่ใช้เป็นยา เมล็ดแก่

ช่วงเวลาที่เก็บยา เก็บในช่วงที่ผลแก่

รส และสรรพคุณยาไทย ตามชนบทใช้เมล็ดสะแก ทอดกับไข่ให้เด็กรับประทาน ช่วยขับพยาธิไส้เดือน และเส้นด้าย

วิธีใช้ เมล็ดแก่แห้งของสะแก ใช้ถ่ายพยาธิไส้เดือน โดยใช้เมล็ดแก่ 1 ช้อนคาว (ประมาณ 3 กรัม) ตำให้ละเอียดทอดกับไข่ให้เด็กรับประทานตอนท้องว่าง

ข้อควรระวัง ห้ามรับประทานเกินขนาดที่กำหนด
--------------------------------------------------------

สับปะรด


เหง้าสับปะรดแห้ง

สับปะรด

ชื่อท้องถิ่น มะขะนัด มะนัด (ภาคเหนือ), บ่อนัด (เชียงใหม่), ขนุนทอง ย่านัด ยานัด (ภาคใต้), หมากนัด (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์Ananas comosus

ลักษณะของพืช สับปะรดเป็นพืชล้มลุกหลายปี ลำต้นสั้น และแข็ง ใบออกสลับโดยรอบต้น ใบเรียวยาว ปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อ ช่อดอกมีก้านยาว ผลรูปร่างเป็นไข่กลม หรือทรงกระบอก

ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าทั้งสด และแห้ง

รส และสรรพคุณยาไทย รสหวานเย็น ช่วยขับปัสสาวะ
วิธีใช้ ใช้เหง้าสด หรือแห้ง แก้อาการขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ โดยใช้เหง้าวันละ 1 กอบมือ (สดหนัก 200 – 250 กรัม แห้งหนัก 90 – 100 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (ประมาณ 75 มิลลิลิตร)

------------------------------------------------------------

เพิ่มเติม
สะเดา




สะเดา

ชื่อท้องถิ่น สะเดาบ้าน, สะเลียม (เหนือ), เดา (ใต้)

ชื่อสามัญ  Siamese neem tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss var. siamensis Valeton


ลักษณะของพืช เป็นต้นไม้ขนาดกลาง สูง 12 – 15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา หรือเทาปนดำ ผิวแตกเป็นร่องเล็กๆใบเป็นช่อแบบขนนก ใบย่อยรูปหอก ขอบใบหยัก ใบออกเวียนกัน ตรงปลายกิ่งจะผลิใบใหม่ และผลิดอกออกเป็นช่อสีขาว ผลกลมรี อวบน้ำ ผลแก่สีเหลือง ภายในผลมี 1 เมล็ด ทุกส่วนของสะเดามีรสขม

ส่วนที่ใช้ ยอด และดอก

ช่วงเวลาที่เก็บ ช่วงที่มียอดอ่อน และมีดอกอ่อน (มักออกยอด และดอกในฤดูหนาว)

รส และสรรพคุณยาไทย รสขม สรรพคุณ เจริญอาหาร

วิธีใช้ ช่วยเจริญอาหาร ใช้ยอด และดอก ลวกหรือต้ม รับประทานกับน้ำปลาหวาน

------------------------------------------------------------

เสลดพังพอน

 

เสลดพังพอน

ชื่อท้องถิ่น ชองระอา, พิมเสนต้น (กลาง), พิมเสนต้น (ภาคกลาง), 
เซ็กเซเกี่ยม (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์Barleria lupulina

ลักษณะของพืช เสลดพังพอน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นมีสีน้ำตาลแดง มีหนามตามข้อใบยาวเรียว ปลายแหลม มีเส้นกลางใบสีแดง ดอกสีเหลืองจำปา ออกเป็นช่อ

ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบสด

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา
เก็บใบขนาดกลาง ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป

รส และสรรพคุณยาไทย รสขม ถอนพิษ แมลงสัตว์กัดต่อย โรคผิวหนัง

วิธีใช้ ใบสดของเสลดพังพอน รักษาอาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย โดยเอาใบสด 1 กำมือ ตำละเอียดคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น หรือตำผสมเหล้าเล็กน้อยก็ได้

---------------------------------------------------------

สีเสียดเหนือ






สีเสียดเหนือ

ชื่อท้องถิ่น
สีเสียดเหนือ (ภาคเหนือ), สีเสียดแก่น (ราชบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์Senegalia catechu

ลักษณะของพืช สีเสียดเหนือ เป็นไม้ยืนต้น ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อยจำนวนมาก ดอกเป็นช่อขนาดเล็ก มีสีขาวอมเหลือง ฝักสีน้ำตาลเข้ม

ส่วนที่ใช้เป็นยา ก้อนสีเสียด (ก้อนสีเสียดเป็นสิ่งที่สกัดที่ได้จากการนำเนื้อไม้มาตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำกรอง และเคี่ยวให้งวด จะเหลือก้อนแข็งๆสีดำ และเป็นเงา)

รส และสรรพคุณยาไทย มีฤทธิ์ฝาดสมาน

วิธีใช้ ก้อนสีเสียด ช่วยฝาดสมานแก้อาการท้องเดิน 
ใช้ผงประมาณ 1/3 – 1/2 ช้อนชา (หนัก 0.3 – 1 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม

-----------------------------------------------------------


หญ้าคา



หญ้าคา
ชื่อท้องถิ่น
  คา, คาหลวง, ลาลาง, ลาแล (มลายู /มาเลเซีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์Imperata cylindrica

ลักษณะของพืช หญ้าคา เป็นพืชล้มลุก ดอกมีก้านยาวสีขาวเป็นมัน ขึ้นเป็นวัชพืชพบเห็นทั่วไป

ส่วนที่ใช้เป็นยา รากสด หรือแห้ง

รส และสรรพคุณยาไทย รสจืด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เป็นยาขับปัสสาวะ

วิธีใช้ ใช้รากสดหรือแห้ง แก้อาการขัดเบา 
ใช้วันละ 1 กำมือ (สดหนัก 40 – 50 กรัม 
แห้ง 10 – 15 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำรับประทาน
วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)

--------------------------------------------------------------

หญ้าหนวดแมว




หญ้าหนวดแมว

ชื่อท้องถิ่น พยับเมฆ (กรุงเทพฯ)
ชื่อวิทยาศาสตร์Orthosiphon stamineus

ลักษณะของพืช หญ้าหนวดแมว เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ดอกออกเป็นช่อสวยงาม ลักษณะคล้ายฉัตรเป็นชั้นๆ สีขาวหรือสีม่วง มีเกสรตัวผู้ยาวคล้ายหนวดแมว

ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบหญ้าหนวดแมว

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบที่สมบูรณ์ ขนาดกลางไม่แก่หรือไม่อ่อนจนเกินไป ล้างให้สะอาดและนำมาตากในที่ร่มให้แห้ง

รส และสรรพคุณยาไทย ขับปัสสาวะ

วิธีใช้ หญ้าหนวดแมว แก้ขัดเบา ทำได้โดยเอาใบแห้ง 4 กรัม 
หรือ 4 หยิบมือ ชงกับ น้ำร้อน 1 ขวด น้ำปลา เหมือนกับชงชา 
ดื่มวันละ 1 ขวด 3 ครั้ง หลังอาหาร

ข้อควรระวัง คือ คนที่เป็นโรคหัวใจ ห้ามรับประทาน (เพราะมีสารโปแตสเซียมมาก)

----------------------------------------------------------

แห้วหมู




แห้วหมู

ชื่อท้องถิ่น หญ้าขนหมู (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์Cyperus rotundus

ลักษณะของพืช แห้วหมู เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีหัวอยู่ใต้ดิน มีก้านดอกยาว ดอกเป็นสีน้ำตาล

ส่วนที่ใช้เป็นยา หัว

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บหัวแก่

รส และสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดขมเล็กน้อย ขับลม

วิธีใช้ หญ้าแห้วหมูใช้เป็นยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด โดยใช้หัวหญ้าแห้วหมู 1 กำมือ (60 – 70 หัวหรือหนัก 15 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่มหรือใช้หัวสดครั้งละ 5 หัวโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน

------------------------------------------------------

อ้อยแดง





อ้อยแดง

ชื่อท้องถิ่น อ้อยดำ, อ้อยขม 
ชื่อวิทยาศาสตร์Saccharum officinarum

ลักษณะของพืช อ้อยแดงเป็นไม้ล้มลุก รูปร่างคล้ายต้นอ้อยแต่มีลำต้นสีแดงคล้ำ

ส่วนที่ใช้เป็นยา ลำต้นทั้งสด หรือแห้ง

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บลำต้นที่สมบูรณ์เต็มที่

รส และสรรพคุณยาไทย รสหวาน และขม แก้ปัสสาวะพิการ 
แก้ขัดเบา

วิธีใช้ ลำต้นอ้อยแดงทั้งสด หรือแห้ง ใช้เป็นยาแก้อาการขัดเบา โดยใช้ลำต้นสดวันละ 1 กำมือ (สดหนัก 70 – 90 กรัม , แห้งหนัก 30 – 40 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร



-------------------------------------------






ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

---------------------------------------------------------

อ้างอิง: ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป 
 สาขาเภสัชกรรม
กองประกอบโรคศิลปะ
Credit:  ภาพนำมาจาก internet ซึ่ง share กันใน Google,  Face Book และได้ถ่ายทำเองบ้าง เพื่อการศึกษาแพทย์แผนไทยให้ง่ายขึ้น เป็นการสืบทอดต่อไปยังอนุชน และผู้สนใจ ให้มีความรู้ในการรักษาบำบัดโรคพึ่งพาตนเองได้ ขอขอบคุณเจ้าของภาพ ขอให้อนุโมทนาส่วนบุญกุศล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขัง พลัง และสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงามโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ตรวจทานแล้ว


No comments:

Post a Comment