Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อกนี้ / เว็บ

Sunday, August 7, 2016

เวชกรรมไทย การซักประวัติ และวิธีการตรวจโรคของบุรุษ สตรี และเด็ก

เวชกรรมไทย เล่ม 2
การซักประวัติ และวิธีการตรวจโรค
ของบุรุษ สตรี และเด็ก



จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

เวชกรรมไทย เล่ม 2
การซักประวัติ และวิธีตรวจโรคของบุรุษ สตรี และเด็ก


         1.  การซักประวัติ หมายถึง การถาม
ประวัติคนไข้ ประวัติครอบครัว ประวัติการเจ็บป่วย
ทั้งปัจจุบัน และอดีต ผู้ศึกษาจะต้องมีไหวพริบช่าง
สังเกต ซึ่งเป็นศิลปะอันสำคัญของแพทย์ในการ
ซักประวัติ และวิธีการตรวจโรคนี้ เป็นการยากที่
จะวางแบบแผนตายตัวลงไปได้ แต่เมื่อสรุปแล้ว
หลักใหญ่ๆ ในการตรวจโรคมีหลักอยู่ 4 ประการ ตือ
         1) การถามประวัติคนไข้ และครอบครัวนั้น 
เช่น ถามชื่อนามสกุล เลขประจำบัตรประชาชน 
ตำบลที่อยู่ ที่เกิด สัญชาติ อายุ อาชีพ 
ความประพฤติที่เคยชิน ถามถึงโรคที่เคยเป็นมา 
ถามถึงครอบครัวที่ไกล้ชิด สำหรับการวิเคราะห์
เผ่าพันธ์ุ อันเป็นหนทางให้โรคติดต่อถึงกันได้เป็นต้น
         2) การถามประวัติโรคทั้งอดีต - ปัจจุบัน เช่น
ถามวันเวลาที่แรกป่วย เริ่มป่วยมีอาการอย่างไร
อาการต่อมา การรักษาพยาบาล แล้วอาการผันแปร
อย่างไรในวันหนึ่งๆ ปัจจุบันเวลาที่ตรวจ
มีความสำคัญอย่างไร
        3) การตรวจร่างกาย และจิตใจคนไข้นั้น
เช่น ตรวจดูลักษณะรูปร่าง ผิวพรรณ กำลัง
สติอารมณ์ ทุกขเวทนา ตรวจการหายใจ
เป็นอย่างไร ตรวจอวัยวะ หัวใจ ตับ ปอด ม้าม ลิ้น ตา
เป็นต้น ตรวจเหงื่อ และส่วนที่พิการซึ่งแลเห็น เป็นต้น
        4) การตรวจ และถามอาการนั้น เช่น
วัดปรอท ดูความร้อน ตรวจชีพจร อุจจาระ
ปัสสาวะ (ถาม และตรวจ) เป็นต้น ถามถึงการ
บริโภคอาหาร การหลับนอน ความรู้สึกภายใน
ภายนอก และในปาก ในคอ เป็นต้น
ในหลักการตรวจโรคที่กล่าวมาแล้ว
ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่าจะต้องตรวจกับคนไข้รายหนึ่งๆ
ทุกข้อทุกหลักเสมอไป แล้วแต่เหตุผลของ
ความเจ็บไข้ที่ปรากฎ ขอให้อยู่ในความวินิจฉัย
ของแพทย์ตามเห็นควร อนึ่ง ในหลักตรวจโรค
4 ประการนี้ ขอให้นักศึกษาได้เข้าใจในวิธีปฏิบัติ
ทั้ง 3 อย่างในโอกาสนี้ด้วย

การซักประวัติการเจ็บป่วย ตอนที่ 1/4 
ทำไม ? ต้องมีการซักประวัติการเจ็บป่วย
https://www.youtube.com/watch?v=iLkLlznk-kI


การซักประวัติการเจ็บป่วย ตอนที่ 2/4 
การเตรียมความพร้อมในการซักประวัติ
https://www.youtube.com/watch?v=GEXZHpqed1g


การซักประวัติการเจ็บป่วย ตอนที่ 3/4 
เทคนิคและขั้นตอนในการซักประวัติการเจ็บป่วย
https://www.youtube.com/watch?v=Zh2WwikSz64

การซักประวัติการเจ็บป่วย ตอนที่ 4/4 
ตัวอย่างการซักประวัติการเจ็บป่วย
https://www.youtube.com/watch?v=oq9YAr7Vq4Q


การซักประวัติผู้ป่วยชาย

การซักประวัติ (ปวดหัว)


เวชกรรมไทย 1 (สมบูรณ์)
https://youtu.be/RPDI5pN6XD0
         
 2. วิธีการตรวจโรค

          ธรรมดาแพทย์ที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ 
ก็จะต้องตรวจอวัยวะใหญ่น้อย ให้รอบคอบ 
เพื่อจะได้รู้ความเป็นไปของโรคนั้น 
ดังจะได้อธิบายวิธีตรวจต่อไปนี้

1) ตรวจชีพจร เพื่อทราบความหนัก และเบาของโรค

2) ตรวจเส้น อัษฎากาศ เส้นสุมนา เส้นอัมพฤกษ์

3) ตรวจร่างกาย เพื่อรู้ว่าส่วนพิการในที่หนึ่งที่ใด

4) ตรวจจักษุ เพื่อรู้อาการของโรคซึ่งแสดง
    ทางจักษุ มีสีแดง เขียว ขาว เป็นต้น

5) ตรวจ ปาก ลิ้น ขากรรไกร เพื่อรู้ความเป็นแผล
    เป็นละออง เป็นเม็ดและพิการอื่นๆ ในที่นั้น

6) ตรวจหทยัง (หัวใจ)

7) ตรวจปับผาสัง (ปอด)

8) ตรวจยกะนัง (ตับ)

9) ตรวจวักกัง (ม้าม)

10) ตรวจอันตัง (ไส้ใหญ่) อันตะคุณัง (ไส้น้อย) 
    ตลอดถึงกระเพาะอาหาร

11) การตรวจปัสสาวะ เพื่อรู้สี แดง ดำ เขียว เหลือง 
    ขุ่นข้นเจือมาในปัสสาวะนั้น กับการถ่ายปัสสาวะ 
    สะดวกหรือไม่

12) ตรวจปิหะกัง (ไต)

13) ตรวจมดลูก

14) ตรวจเฉพาะที่ป่วย เพื่อรู้ว่าเป็นแผลฟกช้ำ 
      เคล็ด ยอก บวม

15) ตรวจอุจจาระ ทั้งถามทั้งตรวจด้วยตนเอง 
      เพื่อรู้หยาบ ละเอียด สีดำ แดง เขียว ขาว เหลือง

16) ตรวจปัสสาวะ ทั้งตรวจและถาม เพื่อรู้สี
    ของปัสสาวะ สีดำ แดง เหลือง เขียว ขาว ขุ่น ข้น 
    เบาสะดวกหรือไม่

          การตรวจโรคโดยความสังเกต

1. ตรวจสติอารมณ์ เพื่อรู้ความปกติ หรือ 
    ความฟั่นเฟือน แห่งกำลังใจ ของผู้ป่วย

2. ตรวจเสียง เพื่อรู้ว่าเสียง นั้นปกติ 
    หรือแหบ แห้ง และวิปริตอย่างไร

3. ตรวจการหายใจ เพื่อรู้อาการ เร็ว ช้า 
    สั้น ยาว หนัก เบา

4. ตรวจทุกขเวทนา เพื่อรู้อาการหนัก เบา 
    ต่างๆ ที่มีกับผู้ป่วย

          การตรวจโดยวิธีการถาม

1. เมื่อก่อนจะเจ็บ มีเหตุอย่างไร เพื่อประสงค์ 
    รู้มูลของโรคที่ได้เกิดขึ้น

2. ล้มเจ็บมาแต่ วัน เดือน และเวลาใด 
    เพื่อรู้ฤดูสมุฏฐาน กาลสมุฏฐาน

3. แรกเจ็บมีอาการอย่างไร เพื่อรู้อาการ
    หนักเบา ของโรคที่เป็นมาแล้ว

4. อาการที่รู้สึกไม่สบายในวันหนึ่งๆ 
    เวลาใด เพื่อรู้กาลสมุฏฐาน

5. การรักษาพยาบาลแล้ว มีอาการเป็นอย่างไร 
    เพื่อรู้การผันแปรของโรค

6. เจ็บมาได้กี่วัน เพื่อรู้อายุของโรค 
    ซึ่งตกอยู่ในระหว่างโทษชนิดใด

7. ผู้ป่วยอายุเท่าไร เพื่อรู้อายุสมุฏฐาน

8. โรคประจำตัวมีอย่างไร เช่น ริดสีดวง 
    หืด โรคบุรุษ ๆลๆ เป็นต้น

9. ความประพฤติที่เป็นอยู่เนืองนิตย์ของผู้ป่วย 
    เช่น สูบฝิ่น ดื่มสุรา และประกอบอาชีพ 
    และ อิริยาบถสำหรับร่างกาย

10. การนอนของคนไข้ เพื่อรู้ว่าหลับมากน้อย 
    หรือหลับสนิทหรือไม่ หรือไม่หลับ

11. บริโภคอาหารเป็นอย่างไร ได้มากหรือน้อย 
     มีรสอร่อยหรือไม่

12. ความทุกขเวทนาเป็นอย่างไร เพื่อรู้ความปวด 
    ขัด ยอก จุกเสียดในที่ใด ทั้งภายใน และภายนอก

13. ความรู้สึกในปาก ลิ้น คอ และในที่ต่างๆ 
    เพื่อรู้เป็นปกติหรือพิการ

         เมื่อตรวจ และถามพอกับความต้องการแล้ว 
ต่อไปเป็นหน้าที่ของแพทย์จะต้องวินิจฉัยหาเหตุ 
และผล ตามหลักของสมุฏฐานต่างๆ ว่า โรคที่เกิด
ขึ้นนี้ มีสมุฏฐานอะไร เป็นเหตุและธาตุใด พิกัดใด 
พิการบ้าง รวมธาตุที่พิการมีกี่อย่าง ความรู้แผนกนี้ 
แพทย์จะต้องรู้ให้รอบคอบทุกประการ 
ดังจะได้อธิบายวิธีวินิจฉัยโรคเป็นตัวอย่างต่อไป


          วิธีการวินิจฉัยโรค

1. มูลให้เกิดโรคในคราวนี้มี 12 ประการ 
    เช่นฤดูเปลี่ยนแปลงเป็นต้น 
    ได้กับสิ่งใดเป็นมูลให้เกิดโรคขึ้น

2. โรคคราวนี้ มีธาตุใด พิกัดใด ที่พิการนั้น
    มีกี่อย่างรวมกี่อย่าง เพื่อจะได้แก้ไข
    ให้ตรงตามหลักของธาตุสมุฏฐาน

3. ผู้ป่วยตั้งแต่แรกเป็นจนถึงวันที่ตรวจ
    อยู่ในเกณฑ์ฤดูสมุฏฐานอะไร พิกัดอะไร

4. ผู้ป่วยอายุอยู่ในวัยใด ในวัยนั้นเป็นอายุ
    และสมุฏฐานอะไร พิกัดอะไร และสิ่งใดให้โทษ

5. เวลาผู้ป่วยไม่สบาย มีการกลุ้มอกกลุ้มใจเป็นต้น 
    หรือถึงเวลาจับไข้ อยู่ในกาลสมุฏฐานใด 
    พิกัดใด และสิ่งใดให้โทษ

6. ตั้งแต่วันแรกป่วยจนถึงวันที่ตรวจ รวมได้กี่วัน
    เพื่อรู้อายุของโรคนั้นตกอยู่ในโทษใด 
    (มีเอกโทษเป็นต้น)

7. ควรรู้ว่า ธาตุใดกำเริบ หย่อน พิการ 
    นับตั้งแต่วัน เดือน และเวลาแรกป่วย 
    จนถึงวันที่ตรวจ เพื่อจะได้รู้โรคคราวนี้ 
    ตกอยู่ในส่วนใด

         เมื่อได้พิจารณาโดยประกอบด้วยเหตุ 
และผล ตามหลักสมุฏฐานของโรคนั้น จนปรากฏ
ชัดเจนแล้ว ต่อไปนี้ต้องวิจารณ์ในการรักษา 
และวิธีประกอบยาให้ตรงกับโรคนั้น

         การวิจารณ์ในการรักษา 
และวิธีประกอบยาให้ตรงกับโรค

1. โรคนี้ตามแพทย์ได้สมมุติไว้ว่า เป็นโรคอะไร 
    และชื่อว่าโรคอย่างใด

2. โรคนี้จะต้องใช้ยาสรรพคุณอย่างไร 
    และยาชนิดใดแก้ จึงจะตรงกับโรค

3. โรคนี้จะต้องแก้ธาตุใด สมุฏฐานใด พิกัดใด
    ก่อนจึงจะควรกับโรคนั้น

4. โรคในคราวนี้มีธาตุใด สมุฏฐานใด พิกัดใด 
    เป็นหัวหน้า ที่ให้โทษร้ายแรง 
    (เพื่อจะได้แก้ไขเสียก่อน)

5. เมื่อได้วางยาแก้ไข้แล้ว โรคนั้นยังไม่ถอย 
    ควรจะต้องตรวจ และพิจารณา เหตุผลของโรค
    นั้นอีก ส่วนยาก็จะต้องเปลี่ยนหรือเพิ่มเติม
    ขนานอื่นๆ อีกต่อไป แล้วแต่จะสมควรกับโรค

          วิธีตรวจร่างกาย ตามอวัยวะต่างๆ






 



          1. ตรวจชีพจร

ตามปกติการตรวจโรคนั้น แพทย์จะต้องตรวจชีพจร
ที่ข้อมือก่อน เพราะเป็นเส้นโลหิตที่เชื่อมโยงมาจาก
หัวใจตอนบน เมื่อหัวใจเต้นอย่างไร ชีพจรก็เต้น
อย่างเดียวกัน แต่ชีพจรนั้นมี 2 แห่ง คือ ที่ข้อมือ 
และที่ข้อเท้า การตรวจชีพจรนั้นประสงค์ให้รู้
ความเป็นไปของโรค และเพื่อรู้อาการของโรค
นั้นมากหรือน้อย

         วิธีตรวจชีพจร
         ต้องใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลาง หรือจะใช้นิ้วนาง
อีกก็ได้ ให้ตรวจที่ใต้ข้อมือด้านหัวแม่มือ 
ห่างจากข้อมือประมาณ 1 นิ้ว ให้วางนิ้วลงเบาๆ 
ก่อน ถ้าไม่พบชีพจรเดินตุ๊บๆ จึงกดลงให้แรงขึ้นอีก
เล็กน้อยก็จะพบ เมื่อพบแล้วให้ดูนาฬิกาว่า 1 นาที
เดินกี่ตุ๊บ การตรวจต้องสังเกตว่า ชีพจรเดินเร็ว 
หรือช้า และหนัก เบา ประการใด ส่วนชีพจร
เบื้องล่างนั้น อยู่ตรงหลังเท้า ด้านหัวแม่เท้า 
ห่างจากข้อเท้าประมาณ 1 นิ้วเศษ การตรวจ
ต้องตรวจทั้งซ้าย และขวา ทั้งมือและเท้า 
การตรวจต้องเอาใจใส่จดจำว่าการเดินของชีพจร
ตอนล่าง และตอนบน ทั้ง 2 ข้าง เดินเหมือนกัน
หรือต่างกัน เพื่อจะได้วินิจฉัยประกอบ
กับโรคนั้นต่อไป

          ลักษณะชีพจรสำหรับร่างกายที่เป็นปกตินั้น 
เดินเสมอไม่เร็วไม่ช้า ไม่ตื้นไม่ลึก ไม่โต ไม่เล็ก 
เป็นปานกลาง เต้นเสมอกันทุกๆ ระยะ 
ดังอธิบายต่อไปนี้

          1) ปฐมวัย

  • เด็กในระหว่าง 1 เดือน      
         ชีพจรเดิน นาทีหนึ่ง 120 ถึง 125 ตุ๊บ
  • 1 เดือน ขึ้นไป ถึง 3 เดือน 
         ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง 115 ถึง 120 ตุ๊บ
  • 3 เดือน ขึ้นไป ถึง 6 เดือน 
         ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง 110 ถึง 115 ตุ๊บ
  • 1 ปี ขึ้นไป ถึง 2 ปี             
        ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง 100 ถึง 105 ตุ๊บ
  • 2 ปี ขึ้นไป ถึง 5 ปี             
       ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง   95 ถึง 100 ตุ๊บ
  • 5 ปี ขึ้นไป ถึง 10 ปี           
       ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง   90 ถึง   95 ตุ๊บ
  • 10 ปี ขึ้นไป ถึง 16 ปี         
       ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง   85 ถึง   90 ตุ๊บ
          2) มัชฌิมวัย
  • 16 ปี ขึ้นไป ถึง 20 ปี         
       ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง 80 ถึง 85 ตุ๊บ
  • 29 ปี ขึ้นไป ถึง 30 ปี         
       ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง 75 ถึง 80 ตุ๊บ
          3) ปัจฉิมวัย
  • 30 ปี ขึ้นไป ถึง 40 ปี         
       ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง 70 ถึง 75 ตุ๊บ
  • 40 ปี ขึ้นไป ถึง 50 ปี         
       ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง 65 ถึง 70 ตุ๊บ
  • 50 ปี ขึ้นไป ถึง 60 ปี         
       ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง 60 ถึง 65 ตุ๊บ
  • 60 ปี ขึ้นไป                       
       ชีพจรเดินนาทีหนึ่ง 50 ถึง 60 ตุ๊บ
          หมายเหตุ หลักของชีพจรที่เดินเป็นปกตินั้น 
บางคนอาจไม่ตรงตามหลักที่วางไว้ 
แต่เป็นส่วนน้อยอาจคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อย 
หลักที่วางไว้ถือส่วนมากเป็นเกณฑ์ โดยเหตุว่า
บางคนมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเป็นปกติ 
แม้จะมีอายุมาก ชีพจรก็เดินช้าผิดคนธรรมดา 
บุคคลเหล่านี้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษมีบ้างส่วนน้อย

อธิบายลักษณะชีพจรที่วิปริตผิดปกติ 
ให้โทษต่างๆ ดังต่อไปนี้
1) เดินตื้น เต้นเร็วพอประมาณ แต่แรง 
เม็ดอย่างกลาง และเดินเสมอ 
(มีพิษร้อน เกิดขึ้นแต่ยังน้อย โรคนั้นเบา)

2) เดินตื้น เต้นแรง และเร็ว เม็ดใหญ่ เดินเสมอ 
    (มีพิษร้อน โรคนั้นอย่างกลาง)

3) เดินตื้น เต้นแรงเดินเร็วจนนับเกือบไม่ทัน 
เม็ดใหญ่เดินเสมอ (มีพิษร้อนจัด โรคปานกลาง
ค่อนข้างมาก) ถ้าเม็ดเล็กมีพิษร้อนจัดมาก 
โรคชนิดนี้เป็นมาก

4) เดินลึก เต้นช้า เม็ดใหญ่ เดินเสมอ 
    (มีกำลังน้อย อ่อนเพลีย โรคนั้นยังน้อย)

5) เดินลึก เต้นเร็ว เม็ดปานกลาง เดินเสมอ 
    มีอาการให้ใจเหี่ยวแห้ง หิวโหย (โรคพอประมาณ)
 
6) เดินลึก เม็ดเล็ก เต้นเร็ว และแรง เดินเสมอ 
    มีอาการให้สวิงสวาย  อ่อนเพลียมาก 
    ประกอบมีพิษ (โรคนั้นปานกลาง ค่อนข้างมาก)

7) เดินตื้น เต้นเร็ว และเดินแรง เม็ดใหญ่เดิน 
หรือเม็ดปานกลาง แต่เดินไม่ มีหยุดเป็นตอนๆ 
นาทีหนึ่ง 2 หรือ 3 ครั้ง เดินสะบัดสะดุด กระแทก
เป็นคราวๆ มีพิษร้อนจัดมาก บางคราวเพ้อคลั่ง 
 (โรคนี้หนัก แต่ยังพอรักษาได้)

8) เดินลึก เต้นแรง และเดินเร็วจนนับเกือบไม่ทัน 
เม็ดเล็กเดินไม่เสมอ มีหยุดพักเป็นระยะๆ 
บางคราวเดินสะบัดสะดุดสะท้อนขึ้น มีพิษร้อน
ภายในมาก ให้ร้อนกระวนกระวายใจ ระส่ำระสาย 
เป็นบางคราว หรือเป็นพักๆ (โรคนี้ได้ 1 เสีย 1 
ยังพอรักษาได้)

9) เดินเล็กบ้าง ตื้นบ้าง เต้นแรงจัดและเร็วมาก 
เม็ดอย่างกลางบ้าง เล็กบ้าง เดินไม่เสมอกัน 
ในระหว่าง 7 – 8 ตุ๊บ หยุดครั้งหนึ่ง เดินกวัดแกว่ง
เหมือนงูเลื่อย มีอาการดิ้นรน กระสับกระส่าย 
ร้อนเป็นกำลัง (โรคนี้เป็นมาก ธาตุไฟจวนจะแตก 
ได้ 1 เสีย 2)

10) เดินลึกมาก เร็วจนนับไม่ทัน เม็ดเล็กที่สุด 
เดินไม่เป็นปกติ มีหนักเบา เหมือนนกกระพือปีก 
คือเดินเร็วที่สุด ประมาณ 9 – 10 ตุ๊บ 
แล้วกลับเดินช้าดังจะหยุดประมาณ 5 – 6 ตุ๊บ 
แล้วกลับเดินช้าดังจะหยุด แล้วกลับเดินเร็วอีก
เป็นพักๆ ในระหว่างนาทีหนึ่งหลายครั้ง 
บางคราวเดินเหมือนเป็นไข้แทน คือเดินเร็วที่สุด 
แล้วหยุดพักชั่วคราว แล้วเดินเร็วอีก ในระหว่าง
นาทีหนึ่งหลายครั้ง มีอาการสลบไสล ไม่มีสติสมปฤดี 
(โรคนี้เป็นมากที่สุด แล้วแต่ธาตุไฟ ได้ 1 เสีย 3)

2. วิธีตรวจ หทยัง (หัวใจ)


         หัวใจตั้งอยู่ในทรวงอก ระหว่างซี่โครง
อันที่ 4 กับ 5 ติดต่อกันนับจากบนลงมา 
ห่างทรวงอก 1 นิ้ว ติดราวนมข้างซ้าย 
หัวใจโตเท่ากำมือเจ้าของ เป็นก้อนเนื้อ 
ข้างในเป็นโพรง มีสัณฐานดังดอกบัวตูม 
 มีขั้วหัวใจทั้งตอนล่าง และตอนบน หัวใจมีหน้าที่
สำหรับฉีดโลหิตเดินไปตามอวัยวะใหญ่น้อย
ของร่างกาย หัวใจที่เป็นปกตินั้น เต้นตุ๊บๆ เสมอกัน 
ไม่เร็วไม่ช้า ถ้าเกิดโรคอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น 
การเต้นของหัวใจก็วิปริตไปต่างๆ คือ เต้นช้าบ้าง 
เร็วบ้าง แต่ที่เต้นผิดปกตินั้น ย่อมให้โทษต่างๆ 
ดังได้อธิบายไว้ในวิธีตรวจชีพจรแล้ว




          การตรวจหัวใจ ใช้นิ้วมือตรวจก็ได้ 
ให้เอานิ้วมือวางลงในระหว่างช่องซี่โครง
อันที่ 4 กับที่ 5 ในทรวงอกเบื้องซ้ายราวนม 
ส่วนด้านหลังอยู่ที่สะบักซ้าย หรือจะใช้
การตรวจฟังเสียงหัวใจที่เต้น (การตรวจ
โดยฟังเสียงหัวใจเต้นนั้น แต่ครั้งโบราณ
ท่านก็ใช้ฟังเหมือนกัน คือเอาผ้าคลุมที่ทรวงอก 
แล้วเอียงหูแนบเข้าไปฟัง แต่ตรวจได้เฉพาะผู้ชาย 
และเด็ก ต่อมาใช้กล่องปากแตร มีสัณฐานคล้าย
ดอกลำโพง ยาวประมาณ 1 คืบ สมัยนี้ใช้สายยางฟัง 
 ผลที่ได้รับความรู้ก็เหมือนกัน

          
โรคที่หัวใจพิการ มีหลายประเภท

1) โรคหัวใจบวม เสียงหัวใจที่เต้น ทึบ และฝืด 
ไม่โปร่ง คล้ายกับมีสิ่งที่หนักทับอยู่ ชีพจรเดินช้า 
 เม็ดใหญ่และตื้น แต่เดินเสมอกัน มีอาการ
ให้รู้สึกคับอก อึดอัด หายใจไม่สะดวก 
 ให้เหนื่อยเสมอ บางคราวมีหอบบ้าง อุจจาระ
ปัสสาวะไม่สะดวก และผิวพรรณซีดขาว 
เป็นนานเข้าให้บวมทั้งตัวตลอดถึงหน้า 
แล้วจึงบวมมือ และบวมเท้าภายหลัง

2) โรคหัวใจอ่อน หัวใจเต้นเบาเสียงเล็กดังตึ้กๆ 
และช้า ชีพจรเดินลึก เม็ดขนาดกลาง เดินช้า
และเบา ให้อ่อนเพลีย มักเป็นลมบ่อย ๆ 
นอนไม่ค่อยหลับ แม้หลับก็ไม่สนิท ตื่นง่าย 
สะดุ้ง และตกใจง่าย ถ้าเกิดความตกใจ
มักเป็นลมเสมอ บางคราวคล้ายหัวใจจะหยุดก็มี

3) โรคหัวใจฝ่อ เสียงเสียงที่หัวใจดังฟืด ๆ แฟด ๆ 
 คล้ายท่อแป็บรั่ว หรือยางรถรั่ว ชีพจรเดินตื้น 
 เม็ดเล็ก เดินเร็วบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง เสมอบ้าง 
ไม่เสมอบ้าง ใจเหี่ยวแห้ง ไม่ชุ่มชื่น ง่วงเหงา 
เศร้าใจ วิตก หวาดกลัว เป็นทุกข์ จิตฟุ้งซ่านไม่สงบ 
โกรธง่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ ถ้าเป็นอยู่นาน 
หรือเป็นมาก ให้คลุ้มคลั่ง สติอารมณ์ไม่ปกติ 
 คุ้มดีคุ้มร้าย พูดจาฟั่นเฟือนไม่ได้เรื่อง 
 ต่อไปเสียจริตได้

การตรวจวัดสัญญาณชีพ ตอนที่ 1/3 ทำไม ? 
ต้องวัดสัญญาณชีพ
https://www.youtube.com/watch?v=7fGYMunMRXM


การตรวจวัดสัญญานชีพ ตอนที่ 2/3 
การวัดอุณหภูมิ และความดันโลหิต
https://www.youtube.com/watch?v=Yo0QWlHIMEg


การตรวจวัดสัญญานชีพ ตอนที่ 3/3 
การตรวจวัดชีพจร และการหายใจ
https://www.youtube.com/watch?v=yaFvrz0msQs


3. ตรวจเส้นอัษฏากาศ

         เส้นอัษฏากาศ คือ เส้นหัวใจเบื้องบน 
 สำหรับเป็นทางให้โลหิตฉีดออกจากหัวใจเดินไป
ตามเส้นใหญ่น้อยในตอนบนของร่างกาย 
 อยู่ใต้คอหอยลงมาทางด้านซ้ายประมาณ 1 นิ้วเศษ
 การตรวจต้องตรวจที่ซอกไหปลาร้าติดต่อกับคอ 
ข้างหน้ามีเส้นโลหิตเดินทั้ง 2 ข้าง ถ้าตรวจ
พร้อมกัน 2 ข้าง เกรงว่าเมื่อเอามือไปกดถูกเส้น
เข้าแล้ว โลหิตที่เดินในเส้นนั้นจะเดินไม่สะดวก
เกิดโทษได้ หรือจะไปตรวจที่ชีพจรที่ข้อมือ
ทั้ง 2 ข้างก็ได้ เพราะชีพจรที่ข้อมือก็ต่อเนื่องมา
จากเส้นขั้วหัวใจตอนบน ลักษณะที่เต้นเป็นปกติ 
หรือวิปริตเม็ดที่เต้นก็เหมือนกัน 
ดังที่อธิบายไว้ในการตรวจชีพจรแล้ว

         ลักษณะเส้นอัษฏากาศที่จะพิการนั้น 
เนื่องด้วยโลหิตที่ฉีดออกจากหัวใจเดินไป
ตามหลอดเส้นนั้นขัดข้อง เป็นเพราะเส้นอัษฏากาศ
นั้นตีบ หรือเกิดเม็ดขึ้นในเส้น โดยถูกความร้อน 
และเย็นเกินประมาณ โลหิตที่เดินตามหลอดเส้นนั้น
เดินไม่สะดวก จึงเกิดเป็นพิษขึ้น พิษนั้นก็กลับเข้าไป
ทำให้หัวใจพิการ จึงเกิดเป็นโรคอันร้ายแรงขึ้น 
 เช่น ลม 6 ประการ คือ ลมชิวหาสดมภ์, 
ลมมหาสดมภ์, ลมทักขิณโรธ, ลมตติยาวิโรธ, 
ลมกาฬสิงคลี, ลมนางงุ้ม และลมนางแอ่น เป็นต้น 
ลม 6 ประการนี้เป็นลมสำคัญ และยังมีโรคอื่นๆ 
อีกหลายประการ

         4. ตรวจเส้นสุมนา

         เส้นสุมนา เป็นขั้วหัวใจตอนล่าง สำหรับ
เป็นทางให้โลหิตฉีดออกจากหัวใจเดินไปตาม
เส้นโลหิตใหญ่น้อยของร่างกายในตอนล่างทั่วไป 
 อยู่ในระหว่างทรวงอกเหนือลิ้นปี่ขึ้นไป 1 นิ้ว

         วิธีตรวจ ให้เอานิ้วสอดเข้าไปใต้ลิ้นปี่ 
กดลงเบาๆ อย่าให้แรง ก็จะพบเม็ดที่เต้นเป็นปกติ 
หรือวิปริตเหมือนกับที่ได้อธิบายไว้
ในการตรวจชีพจร การตรวจเส้นสุมนานั้นเพื่อจะ
ให้รู้ความเป็นไปของขั้วหัวใจตอนล่าง 
เพื่อรู้อาการของโรคที่เป็นนั้นหนักหรือเบา

         เส้นสุมนาที่พิการนั้น เนื่องจากโลหิตที่ฉีด
ออกจากหัวใจเดินไปตามหลอดเส้นนั้นขัดข้อง 
เพราะเส้นสุมนานั้นตีบ หรือเป็นเม็ดขึ้นในเส้น 
โลหิตที่เดินตามเส้นเดินไม่สะดวก จึงเกิดพิการขึ้น 
อีกประการหนึ่ง ถูกเส้นอิทา เส้นปิงคลาเบียด, บีบ 
หรือทับเส้นสุมนานั้นเสีย เมื่อโลหิตออกจากหัวใจ
ตกมาถึงเส้นนั้นก็เดินไม่สะดวก จึงเกิดเป็นพิษ 
 พิษนั้นก็กลับเข้าทำให้หัวใจพิการ ทำให้เกิดโรค
อันร้ายแรงต่างๆ เช่น ลม 6 ประการ คือ ลมราทยักษ์ 
 ลมกุมภัณฑยักษ์ ลมบาดทะจิต ลมพุทธยักษ์ 
 ลมอัศมุขี และลมอินธนู (รายละเอียดอยู่ใน
คัมภีร์ชวดาร) เมื่อแก้หายแล้วบางคราวกลายเป็น
อัมพาตไป และยังมีอาการที่ร้ายแรงอีกหลายอย่าง

         5) ตรวจเส้นอัมพฤกษ์

             เส้นนี้อยู่เหนือสะดือขึ้นไป 1 นิ้วเศษ 
เป็นเส้นต่อเนื่องมาจากเส้นสุมนา สำหรับโลหิต
ที่ออกจากเส้นสุมนา จ่ายไปตามอวัยวะตอนล่าง
ทั่วไป มีขาและเท้า เป็นต้น ลักษณะของเส้นนี้
จะพิการ หรือปกตินั้น เช่นเดียวกับวิธีตรวจชีพจร

             เส้นอัมพฤกษ์ที่พิการนั้น เนื่องจากเอ็น
ที่รองรับของเส้นนี้เป็นเม็ดของแข็ง หรือตึงดัน
เส้นอัมพฤกษ์ให้โค้งขึ้นมา เมื่อแข็ง หรือตึงเกิน
ประมาณ เมื่อโลหิตเดินมาถึงเส้นนี้ก็เกิดขัดข้อง 
จะจ่ายไปตามเส้นอื่นๆไม่สะดวก โลหิตในเส้นนั้น
ก็มีพิษขึ้น จึงเกิดโรคต่างๆ ขึ้นหลายประการ 
เช่น โรคอัมพฤกษ์กำเริบ ทำให้นอนไม่หลับ 
สะทกสะท้านตามเส้นหัวใจสั่น เต้นสะดุ้ง 
สะบัดร้อนสะบัดหนาว สั่นเหมือนไข้จับ 
และมีอาการอื่นอีกหลายอย่าง การตรวจ
เส้นอัมพฤกษ์เพื่อรู้ความหนักเบาของโรค 
และร่างกายในส่วนนั้นว่าปกติ หรือพิการ 
ตรวจเส้นอัมพฤกษ์แล้วไม้ต้องตรวจเส้นชีพจร
ข้อเท้า เพราะเส้นชีพจรข้อเท้าต่อเนื่องไป
จากเส้นอัมพฤกษ์

             การที่ต้องตรวจหัวใจ และเส้นสุมนา, 
เส้นอัษฎากาศ, หรือเส้นอัมพฤกษ์ ตลอดทั้งชีพจร 
เพราะเหตุว่า โรคบางอย่างบางคราวหัวใจปกติ 
แต่ขั้วหัวใจตอนบน หรือตอนล่างพิการก็มี 
บางคราวหัวใจตอนบนผิดปกติ ตอนล่างพิการก็ได้ 
บางโรคหัวใจภายนอกพิการ ภายในปกติ 
โรคชนิดหนึ่งเนื่องมาแต่เหตุอื่นๆ แล้วมาทำให้
ขั้วหัวใจ หัวใจตอนล่าง และบนพิการ ต่อเมื่อแก้ไข
เหตุนั้นเป็นปกติดีแล้ว หัวใจ และขั้วหัวใจก็เป็นปกติ
อย่างเดิม โรคบางอย่าง เกิดแต่หัวใจ และขั้วหัวใจ
ทั้ง 2 ขึ้นเองก็มี ฉะนั้นการตรวจต้องตรวจ
ให้ทั่วทุกอย่าง เพื่อจะได้รู้ว่า ส่วนนั้นปกติ 
ส่วนนั้นพิการ โรคนี้มาแต่เหตุอื่นๆ หรือเป็นขึ้น
กับหัวใจ ขั้วหัวใจทั้ง 2 โดยตรง เพราะวัตถุ
ทั้ง 3 ประการนี้ เป็นหลักอันสำคัญของร่างกาย 
แม้อวัยวะส่วนใดของร่างกายปกติ ถ้าหัวใจ 
และขั้วหัวใจพิการแก้ไขยาก หากอวัยวะส่วนอื่น
จะพิการหลายๆอย่าง แต่วัตถุทั้ง 3 ประการยังดีอยู่ 
ย่อมจะแก้ไขได้สะดวก

         6) ตรวจปัปผาสัง (ปอด)





        ปอดนั้นมี 2 ข้าง ซ้าย และขวา ตรงนมเข้าไป
มีเส้นโลหิตติดต่อกับหัวใจทั้ง 2 ข้าง ปริมาณ
ของปอดนั้นอยู่ในบริเวณรอบฐานนม ตัวปอดนั้น
เป็นก้อนเนื้อนิ่มสดใส มีเสลดประจำหล่อเลี้ยงปอด
ให้ชุ่มอยู่เสมอ ปอดมีหน้าที่ทำให้เกิดลมหายใจ
เข้าออกอยู่เป็นนิตย์ ปิดส่วนหลังอยู่ตรงใต้สะบัก
ทั้ง 2 ข้าง การตรวจต้องตรวจหน้า, หลัง, ซ้าย, ขวา 
ข้างหน้าตรวจตามฐานนมรอบทั่ว ข้างหลังให้ตรวจ
ตามท้ายสะบักตลอดถึงชายโครง เพื่อจะได้รู้ว่า
ตอนใดพิการ และปกติ ลักษณะปอดที่ปกติ 
มีเสียงดังฟูดๆ เหมือนชักสูบดังเสมอกัน ไม่หนัก 
ไม่เบา ไม่เร็ว ไม่ช้า โปร่ง ส่วนลักษณะปอดพิการ 
เสียงดังฮึดๆ เหมือนแมวหายใจ 
บางคราวเสียงดังครึดๆ ฟีดๆ เสียงนั้นทึบ 
ไม่โปร่ง เดินช้าบ้าง เร็วบ้าง ไม่ปกติ


การเคาะทั่วทรวงอกและฟังเสียงหายใจ 9 ตำแหน่ง
https://www.youtube.com/watch?v=bRMp8n2PBRs

ตรวจปอด
        
 ลักษณะปอดพิการ นั้น คือ

1) โรคปอดบวม เนื่องมาแต่ไข้หวัดใหญ่ 
    มีอาการไอ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก

2) เกิดจากพิษไข้ พิษกาฬ ทำให้หอบ
    เป็นกำลัง ร้อยในกระหายน้ำ

3) ฝีในปอด (วัณโรค) และยังมีโรคอื่นอีก
    หลายประการ

         7. ตรวจยกะนัง (ตับ)





         ตับนั้นอยู่ที่ชายโครงขวา มีตับแก่
อย่างหนึ่ง ตับอ่อนอย่างหนึ่งติดต่อกัน 
การตรวจตับให้ตรวจที่ใต้สวาบข้างชายโครงขวา 
เอานิ้วสอดเข้าไปตามชายสวาบให้ตลอด
ทั่วชายโครง ถ้าตับปกติก็จะไม่ปรากฏที่แลบ 
หรือเป็นก้อนอย่างใด วิธีตรวจอีกอย่างหนึ่ง 
เอามือซ้ายคว่ำลงที่บนชายโครง แล้วเอามือขวา
เคาะมือที่คว่ำนั้น ถ้ามีเสียงดังติ๊กๆ รู้สึกโปร่งไม่ทึบ 
อย่างนั้นเป็นปกติ ส่วนตับที่พิการมีเสียงดังปุๆ 
 และฟ่าม ไม่แน่น และบางทีมีเสียงแกร่งแข็ง
กระด้าง อาการที่พิการนั้น มีหลายประเภท เช่น

1) โรคตับบวม มีเสียงดังปุๆ ที่ชายโครงนูนสูงขึ้น 
รู้สึกอึดอัดตามชายโครง ปวดเสียดตามชายโครง
ถึงหัวใจ หายใจเสียวในหัวใจ ถ้านอนแน่นหายใจ
ไม่ออก ต้องนั่งจึงสบาย บวมมือ และเท้า 
สะท้านร้อน และหนาวดังเป็นไข้

2) ถ้ากาฬขึ้นตับ หรือเป็นฝีในตับ 
ห้ชายโครงบวม มีสีดำ แดง เขียว ช้ำเลือด 
ช้ำหนอง บางคราวเป็นเม็ดผื่นมีพิษร้อนที่
ชายโครง ให้ร้อน และปวดเจ็บที่ตับ 
บางคราวอาเจียน และลงเป็นโลหิต 
ยังมีอาการต่างๆ อีกหลายอย่าง

3) โรคตับย้อย การตรวจนั้นให้เอามือสอด
เข้าไปที่ชายโครง จะพบชิ้นเนื้อเหมือน
ลิ้นหมูแลบออกมาจากชายโครงห่าง 1 นิ้วเศษ
 มีอาการไข้จับสั่นเสมอ ร่างกายซูบซีดผอม 
เหลือง และอาการอื่นๆ หลายชนิด

4) โรคตับโต การตรวจให้เอามือเคาะที่ชายโครง 
มีเสียงทึบ ไม่โปร่ง แข็งกระด้าง ไอแห้ง 
ผอมเหลือง ผิวซีดขาว ตาขาว ปัสสาวะขาว 
กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ตับพิการนั้นยังมีโรคอื่น
อีกหลายชนิด

         8. การตรวจวักกัง (ม้าม)





         ม้ามนั้นอยู่ที่ชายโครงด้านซ้าย คือ
ข้างกระเพาะอาหาร การตรวจให้เอามือซ้าย
คว่ำลงที่ชายโครงซ้าย เอามือขวาเคาะมือซ้าย
ที่คว่ำนั้น ถ้ามีเสียงดังติ๊กๆ และโปร่ง อย่างนั้น
เป็นปกติ อีกอย่างหนึ่งให้เอานิ้วมือสอด
เข้าไปใต้ชายโครง ถ้าม้ามปกติ ก็ไม่ปรากฏ
ที่ย้อย หรือแลบออกมา ส่วนม้ามที่พิการ
นั้นมีอาการดังนี้

1) ม้ามบวม บวมที่ชายโครงเหมือนอกเต่า 
เอามือเคาะเสียงดังปุๆ ที่บวมนั้นสากชา 
สะบัดร้อนสะบัดหนาว หายใจเสียวซ่านไป
ถึงหัวใจ ขัดยอกไปตามชายโครงข้างซ้าย
ไปแถบหนึ่ง ถ้าเป็นมากนอนไม่ได้ แน่น 
ปวดที่ม้ามเป็นกำลัง

2) ม้ามย้อย นั้นแลบออกมาจากชายโครง 
(บางตำราเรียกว่า ป้าง) เอานิ้วมือสอดเข้าไป
ที่ใต้ชายโครง จะปรากฏเป็นก้อนเนื้อเหมือน
ลิ้นหมูแลบออกมา มีอาการผอมเหลืองซูบซีด 
ลักษณะม้ามพิการนั้น ยังมีโรคอีกหลายชนิด คือ

         8.1 อันตัง (ลำไส้ใหญ่)




         ลำไส้ใหญ่ติดต่อกับลำไส้น้อย 
นับเป็น 2 ตอน คือ ตอนบนตั้งแต่ปากรวมถึง
กระเพาะอาหาร ตอนล่างต่อจากลำไส้น้อย
ถึงทวารหนัก มีหน้าที่สำคัญ 2 อย่าง คือ

1) มีหน้าที่ย่อยอาหารเช่นเดียวกับลำไส้น้อย

2) มีหน้าที่ขับกากอาหาร หรืออุจจาระออกจาก
    ร่างกาย เมื่อพิการ

         วิธีตรวจ โดยสังเกตอาการที่แสดงออกมา 
มีอาการให้วิงเวียน นัยน์ตาพร่า ถ้ายืนตรง
ให้มีอาการเรอ ให้หาว ให้สะอึก เมื่อเอว 
เมื่อยหลัง และเส้นรัตตฆาตเสียด 2 ราวข้างบ่อยๆ 
ให้ร้อนท้อง ร้อนคอ เป็นลมโฮก อุจจาระ
ให้ตกเลือดตกหนอง

     
   8.2 อันตะคุณัง (ลำไส้น้อย)

         ลำไส้น้อยมีลักษณะเป็นท่อนกลมยาว
ติดต่อกับกระเพาะอาหารจนถึงลำไส้ใหญ่อันล่าง

1) มีหน้าที่ย่อยอาหารต่อจากกระเพาะอาหาร

         วิธีตรวจ โดยสังเกตดูอาการ เมื่อพิการ 
มักให้พะอืดพะอม ท้องขึ้น ท้องพอง มักเป็น
มานกระษัย บางที่ให้ลงท้อง ตกมูกเลือด 
ให้อาเจียน ให้ปวดขบในท้อง ขัดอก กินไม่ได้ 
ให้เหม็นอาหาร สมมุติกันต่างๆ ว่าเป็นไส้ตีบ 
กลืนอาหารไม่ลง

     
8.3 กระเพาะอาหาร ( อุทริยัง หรืออาหารใหม่)
         คือ เป็นที่พักอาหาร สัณฐานคล้ายรูป
กระเป๋าอยู่ในชายโครง โค้งห้อยอยู่ข้างซ้าย 
ต้นขั้วกระเพาะอยู่ตรงทรวงอกที่ลิ้นปี่ 
ปลายกระเพาะเฉียงไปอยู่ขวา กรเพาะอาหาร
มีเนื้อ 3 ชั้นขวางไขว้กัน ชั้นนอกเหนียวแข็งแรง 
ชั้นที่ 2 ในเนื้อนั้นขวางไขว้ ชั้นที่ 3 คือชั้นใน 
มีเส้นโลหิตเม็ดต่อมภายใน ใช้สำหรับขับน้ำย่อย
ละลายอาหารที่กินลงไปในกระเพาะอาหารนี้
มี 2 ช่อง คือ

1) ช่องอาหารที่กลืนลงไปตามหลอดอาหาร
    เลื่อนเคลื่อนเข้าต้นกระเพาะ

2) ช่องเลื่อนไหลสู่ไส้น้อย

         เมื่อพิการมีอาการให้อาเจียน ให้ท้องเดิน 
ให้ปวดท้อง จุกเสียด รับประทานอาหารเข้าไป
ไม่ย่อย ทำให้แน่นท้อง อาหารเป็นพิษ 
ทำให้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว 
รับประทานอาหารอิ่มบางทีก็ทำให้ปวดท้อง 
มีอาการเบื่ออาหาร บางทีก็เกิดผลขึ้นใน
กระเพาะอาหาร เวลาไปอุจจาระมีโลหิตเจือปน


การซักประวัติผู้ป่วย อาการท้องเสีย
https://www.youtube.com/watch?v=1Sq9DWmaCEU


การตรวจอวัยวะช่องท้องเด็ก (แพทย์แผนไทย)
https://youtu.be/3FGfo_xFAcg  


การคลำตื้นทั่วท้อง,การคลำตับ,คลำม้าม,

คลำไต เเละตรวจไตอักเสบ 

https://www.youtube.com/watch?v=fNBuFtIV-jA&list=PLmqGxTYbBl-b3YRARxP9GOwUTvRIlSGnu&index=2    

   9. ตรวจปิหะกัง (ไต)



         ไต มี 2 ไต ขวา และซ้าย ตรงบั้นเอว
เข้าไป 2 ข้าง สำหรับกลั่นกรองน้ำปัสสาวะ
รูปคล้ายเม็ดทองหลาง ต้นขั้วใหญ่ปลายเล็ก 
มีหลอดออกไปทั้ง 2 ข้าง ทอดไปถึง
กระเพาะปัสสาวะที่ท้องน้อย สำหรับให้
น้ำปัสสาวะเดินลงสู่กระเพาะเบา

         วิธีตรวจ ให้เอามือคลำ หรือกดที่
ท้องน้อยที่หัวเหน่า ข้างหัวเหน่าขึ้นมา 2 นิ้ว 
ทั้ง 2 ข้าง ถ้าไตปกติจะไม่ปรากฏเป็นก้อน 
หรือขอดแข็ง และให้ตรวจที่ตอนหลัง 
ตรงบั้นเอวทั้ง 2 ข้างอีกแห่งหนึ่ง ถ้าปกติ
ในที่นั้นไม่มีการบวมหรือฟกช้ำ

         ลักษณะไตพิการ

        1) ไตบวม มีอาการให้ตึงที่ข้างท้องน้อย 
เป็นก้อนแข็ง ยาวรีโตประมาณผลแตงกวาใบเล็ก 
ถ้ายืดท้องให้เจ็บปวดเสียวที่ท้องน้อยถึงบั้นเอว 
ให้ขัดแน่นในอก ส่วนข้างหลังบวมเป็นลื่นๆ ทั้ง 2 ข้าง 
เมื่อยปวดที่บั้นเอว ปัสสาวะไม่สะดวก ถ้าเป็นนานวัน
ให้บวมทั้งตัว ตลอดหน้า มือ เท้าทั้ง 2 ข้าง 
อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

        2) ไตอักเสบ เนื่องจากท้องน้อย หรือบั้นเอว
ถูกของแข็ง เจ็บปวดท้องน้อย และบั้นเอว 
ปวดปัสสาวะ แต่ปัสสาวะไม่ออก ถึงออกก็ไม่มาก 
หยดย้อยเหมือนช้ำรั่ว และยังมีโรคอื่นๆ อีก ฯลฯ




         10. ตรวจกระเพาะปัสสาวะ

         กระเพาะปัสสาวะเป็นที่พักน้ำเบา 
ซึ่งกรองออกมาจากไตแล้ว ตั้งอยู่ในช่องท้องน้อย
เหนือขึ้นไป ประมาณ 2 นิ้ว เยื้องไปทางขวาเล็กน้อย 
มีสัณฐานเหมือนขวดนมที่เด็กกิน ปากกระเพาะ
เบื้องบนติดกับหลอดไต

         วิธีตรวจ ให้คลำดูที่ท้องน้อย อย่าให้แรง 
ถ้าปกติในที่นั้นเรียบ ไม่บวม หรือนูน เวลาเอามือ
กดลงไม่รู้สึกเจ็บปวด ลักษณะกระเพาะพิการมีดังนี้





        1) กระเพาะบวม บวมนูนขึ้นที่ท้องน้อย ปวดเจ็บ
เสียวซ่านตามหัวเหน่า มีพิษแสบร้อน เมื่อจะปัสสาวะ
ให้ปวดที่กระเพาะดังจะแตก ปัสสาวะร้อน 
และแดงจัด บางคราวแดงคล้ำเหมือนเลือด 
ปวดเป็นกำลัง นั่งลุกไม่สะดวก

        2) กระเพาะเบาเป็นแผล เนื่องจากน้ำปัสสาวะกัด 
บางคราวเกิดจากกามโรค มีอาการปัสสาวะ
เป็นโลหิตสดๆ บางคราวช้ำเลือดช้ำหนอง 
ปวด และแสบร้อน ปัสสาวะไม่ออก กระเพาะพิการ
นี้ยังมีอาการอีกหลายอย่าง

ารตรวจช่องท้อง complete

         
11. ตรวจมดลูก

         มดลูกตั้งอยู่ที่ตรงท้องน้อย เหนือหัวเหน่า
ขึ้นไปประมาณ 2 นิ้วเศษ อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ 
เยื้องกันเล็กน้อย มดลูกเป็นเยื่อยืดหดได้ตัว 
มีสัณฐานคล้ายรูปโทน หรือครกดินที่ต่อกันออก 
ภายในมดลูกเป็นโพรงสำหรับโลหิตระดูเกิดในที่นั้น 
และมีปีกแผ่ออกไป 2 ข้างซ้ายขวามีเส้นเอ็นยึด
เกาะอยู่ที่ขื่อตรงหัวตะคาก 2 ข้าง ไม่ให้เคลื่อนตัว




         วิธีตรวจ ให้เอามือคลำที่ท้องน้อย 
แล้วเอานิ้วกดลงแต่พอควร ถ้ามดลูกปกติ 
ไม่มีอาการบวม และเจ็บปวด เรียบเป็นปกติ
อย่างธรรมดา

       ลักษณะมดลูกพิการ






        1) บวม มีอาการเจ็บปวดที่ท้องน้อย และบวม
เป็นกระเปาะขึ้นมาเหมือนหญิงมีครรภ์ 
เวลากระดิกตัวลุกนั่งให้ปวดเป็นกำลัง 
บางคราวทำให้ขัดปัสสาวะ และอุจจาระก็มี 
กับทั้งเมื่อยปวดที่บั้นเอวถึงก้นกบ



        2) ฝีในมดลูก มีอาการปวดที่มดลูกตุ๊บๆ 
ปวดร้าวที่ท้องน้อย ที่พื้นท้อง ที่ตรงมดลูกตั้งอยู่ 
มีพิษร้อน ถ้ามีฝีตั้งหนอง ปวดสาหัส 
เมื่อฝีแตกแล้วมีเลือด และหนองออกมาทาง
ช่องทวาร การเจ็บปวดค่อยเบาลง ลักษณะมดลูก
พิการยังเป็นโรคประเภทอื่นอีกหลายชนิด

         12. วิธีตรวจร่างกายภายนอก

         ให้เอามือแตะตามตัวตลอดไป คือ

1) ตรวจที่ศีรษะ และหน้าผาก

2) ที่ขมับทั้ง 2 ข้าง เพื่อรู้กำลังโลหิตที่ขึ้นไป
    สู่สมอง เพราะเส้นขมับทั้ง 2 ข้าง เป็นทาง
    ให้โลหิตเดินเข้าไปหล่อเลี้ยงมันสมอง

3) ตรวจที่ซอกคอทั้ง 2 ข้าง ตามทรวงอก 
    เพื่อรู้ความร้อนเย็น

4) ตรวจตามสวาบท้องไปถึงท้องน้อย แขน ขา 
ตลอดปลายมือปลายเท้า เพื่อรู้ความรัอนเย็นจะเสมอ 
หรือต่างกัน ต้องสังเกตว่า มีอาการฟกบวม เป็นเม็ด 
เป็นตุ่ม เป็นผื่น เขียว ขาว ดำ แดง ที่ใดบ้าง 
ถ้าเป็นไข้ตัวร้อนจัด ให้ตรวจที่จอนหู และราวคอ 
ตลอดถึงขากรรไกร ที่ซอกรักแร้ หน้าขาทั้ง 2 ข้าง 
ส่วนข้างหลังนั้น ให้ตรวจดูแต่กระหม่อม และท้ายทอย 
ราวผมตกให้ทั่วถึงเกลียวคอทั้ง 2 ข้าง ที่ท้ายสะบัก 
เส้นข้างกระดูกสันหลัง กับเส้นบั้นเอว ซ้าย ขวา 
เมื่อเห็นเป็นเม็ด ผื่น บวม ต้องพิจารณาให้แน่นอน

หมายเหตุ สวาบ คือ ส่วนของกายคน หรือสัตว์ 
อยู่ระหว่างชายโครงกับกระดูกสะโพก

        
ว่าด้วยการตรวจโรคทั่วไป

1. การตรวจโรคด้วยเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ และสัมผัสคนไข้



         ร่างกายของมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ 
ล้วนแล้วแต่มีวิถีของเส้นโลหิต ดำ แดง เล็ก ใหญ่ 
ก่ายระเกะระกะทั่วสรรพางค์กาย มีโลหิตแล่นไป
ตามท่อโลหิตไปทั่งทุกแห่งตลอดร่างกาย

         การตรวจด้วยวิธีสัมผัส นั้น คือ สัมผัสดู
การเปลี่ยนแปลงของความร้อนของโลหิต 
และดูการเต้นของชีพจรดังต่อไปนี้

1) ดูความร้อนของร่างกาย ที่ทราบได้ คือ

  • ใช้มือแตะที่หน้าผาก และข้างคอ เพื่อทราบ
       กำลังความร้อนว่าพิษไข้ 
       ทำให้มีความร้อนเท่าใด
  • ใช้ปรอทวัด เพราะเป็นวิธีที่แม่นยำกว่าใช้มือแตะ
2) ใช้มือแตะที่ขมับทั้ง 2 ข้าง ตรงเหนือหูเฉียงมา
    ทางหน้าผาก ประมาณ 1 นิ้ว

3) ใช้มือแตะที่โคนขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง

4) ใช้มือแตะที่ตาตุ่มทั้ง 2 ข้าง

2. การตรวจโรคด้วยเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้

การตรวจไข้ต่างๆ ด้วยปรอท นั้นจะเป็นวิธี
อย่างสมัยใหม่ก็ตาม แต่ก็มีประโยชน์ควรใช้
อย่างยิ่ง ดังจะแนะนำต่อไปนี้ คือ

         การตรวจด้วยปรอท ปรอทวัดความร้อน
ของไข้มีอยู่ 3 ชนิด คือ
1) ฟาเรนไฮต์        
2) เซนติเกรด        
3) โรเมอร์
         แต่ในประเทศไทยนิยมใช้อยู่เพียง 2 ชนิ
ด 
คือ ฟาเรนไฮต์ กับ เซนติเกรต
ปรอท ชนิดเซนติเกรด และฟาเรนไฮต์

 ปรอท ชนิดเซนติเกรด วัดทางก้น
ปรอท ชนิดดิจิตอล

         การตรวจปรอท เพื่อทดลองความร้อน
ด้วยวิธีดังนี้ คือ

         ให้คนไข้อมปรอทไว้ที่ลิ้น เวลาประมาณ 1 นาที 
ถ้าคนไข้อมไม่ได้ให้ใช้ใส่ไว้ที่ใต้รักแร้ประมาณ 2 นาที 
เด็กเล็กๆ โดยมากมักต้องสอดเข้าทางรูทวารหนัก 
เพื่อความสะดวกที่เด็กจะดิ้นรนไม่ขัดการตรวจ 
(แต่ใส่รักแร้ต้องเพิ่มดีกรีที่ได้อีก 2 ดีกรี)

          การเทียบให้เทียบกำลังความร้อนของไข้ 
ซึ่งจะปรากฏดังนี้ อันเป็นกำลังความร้อนซึ่งแตกต่าง
กันระหว่างปรอท 2 ชนิด ในอันเดียวกันดังกล่าวนั้น

องศาเซนติเกรด

องศาฟาเรนไฮต์

อาการ

41

106 

ขึ้นไป

อาการหนัก มักไม่รอด (คนไข้มีอาการหนักสุด โดยมากมักไม่รอด เคยมีคนไข้เป็น สันนิบาตหน้าเพลิง วัดปรอทสูงถึง 106.5 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 41.7 องศาเซนติเกรด แต่คนไข้ไม่ตายก็มี ทั้งนิ้เพราะได้รับการเยียวยา ให้ลดความร้อนของโลหิตได้ทันทีก็เป็นได้)

40

104

เข้าเขตไข้พิษ (คนไข้มักมีอาการเพ้อ กระวนกระวาย ตัวร้อนจัด ตาแดงเข้ม เพราะอยู่ในขีดไข้พิษจัด หรือเรียกว่าเป็นไข้พิษแล้ว ส่วนไข้ที่มีความร้อนของปรอทต่ำกว่านี้ เรียกว่า ไข้ธรรมดา

37

98.3

มีไข้ (คนไข้โดยมากมีอาการธรรมดาไม่มีไข้ บางคนมีไข้ปรอทจะขึ้นถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 37 องศาเซนติเกรดเศษก็มี เพราะมีกำลังความร้อนของโลหิตสูงกว่าธรรมดา โดยมากเนื่องจากร่างกายแข็ง และโลหิตงาม)

35

95

ปกติ


  
         ได้กล่าวมาพอเป็นสังเขปของการตรวจไข้ 
โดยการใช้ปรอทวัด 2 ชนิดที่นิยมใช้
ในประเทศไทยเวลานี้

หมายเหตุ ปรอทชนิดฟาเรนไฮต์ และเซนติเกรด 
ทั้ง 2 ชนิดนี้มีการแบ่งดีกรีผิดกัน คือ เซนติเกรด 
ตั้งแต่ 35 ดีกรี จนถึง 42 ดีกรี (ในระหว่างดีกรีหนึ่งๆ 
แบ่งเศษเป็น 10 เศษ) ฟาเรนไฮต์ ตั้งแต่ 95 ดีกรี 
จนถึง 100 ดีกรี (ในระหว่างดีกรีหนึ่งๆ 
แบ่งเศษเป็น 5 เศษ)

3. การตรวจชีพจร ตามปกติใช้อยู่ที่ 2 ข้อมือ 
ตอนริมสุดด้านนอก เมื่อเราสัมผัสจะทราบได้ว่า 
เต้นตุ๊บๆ ตามหลักสังเกตของชีพจร โดยมาก
คนธรรมดามักเต้น 72 ตุ๊บ ถึง 100 ตุ๊บ ต่อนาที 
เมื่อเทียบกับคนไข้ดังนี้
  • คนธรรมดา ชีพจรประมาณ 72 - 100 ตุ๊บ 
       ต่อ 1 นาที
  • คนไข้ ชีพจรประมาณ 100 - 120 ตุ๊บ 
       ต่อ 1 นาที หรือสูงกว่านี้
วิธีตรวจชีพจร

        ให้คนไข้เหยียดมือ อย่าทับแขน เพราะจะทำให้
โลหิตเดินไม่สะดวก ให้ใช้นิ้วชี้ หรือนิ้วกลางจับที่เส้น
เพราะนิ้วหัวแม่มือมีเส้นที่เต้นได้บ้าง 
ให้กดตรงเส้นแรงพอสมควร ให้สังเกตตุ๊บ
ของชีพจร คือ เร็ว และช้า กับแรง และเบา 
คนปกตินอนนิ่งๆ ไม่ได้ดื่มสุรา และยาบำรุงหัวใจ 
จะเต้นนาทีละ 72 ตุ๊บเป็นประมาณ ถ้าเด็กเต้นเร็วกว่า
ผู้ใหญ่ ผู้หญิงเต้นเร็วกว่าผู้ชายบ้าง และให้สังเกต
ระยะที่เต้นว่าเสมอ หรือมีพัก สังเกตตุ๊บหนักเบา 
และโลหิตเดินเต็มเส้นหรือเปล่า สังเกตเป็นเส้นเล็ก 
หรือใหญ่ หนัก เบา เช่น

1) ถ้าชีพจรเต้นแรงเต็มเส้น มักเป็นด้วยอาการพิษ

2) ถ้าชีพจรเต้นช้าแรง หรือช้า อ่อน เป็นโดยกำลังน้อย

3) ถ้าชีพจรเต้นเร็วแต่อ่อน มักเป็นด้วยกำลังอ่อน

         ทั้งนี้ต้องเอาอาการของโรคมาเปรียบเทียบกับ
อาการความร้อน และชีพจรเพื่อให้รู้กำลังไข้ 
และกำลังคน ต้องอาศัยความพิการ และอาการ
เข้าประกอบกันจึงจะเป็นการแน่

         อนึ่งเส้นชีพจรของผู้ใหญ่ เต้นนาทีละ 72 ถึง 80 ตุ๊บ 
เด็กเพิ่งคลอด เต้นนาทีละ 130 ถึง 150 ตุ๊บ เด็กอายุ 2 ขวบ 
เต้นประมาณนาทีละ 100 ตุ๊บ เมื่อมีอายุมากขึ้นชีพจร
เต้นช้าลงตามลำดับ

         คนไข้หนักที่ใกล้จะสิ้นชีวิต หรืออาการร่อแร่ 
ลักษณะชีพจรจะเต้นดังนี้

1) เร็วที่สุด แล้วก็หยุด หรือ

2) ช้าที่สุด แล้วก็หยุด หรือ

3) เต้นไม่เป็นจังหวะ

4. การตรวจร่างกายทั่วไป ดูความร้อนเย็นของ
ปลายวิถีประสาท ส่วนปลายอวัยวะ ให้จับที่ปลายมือ
ปลายเท้า ว่าคนไข้อาการร้อนเย็นอย่างใด ถ้าเย็น 
คนไข้นั้นโลหิตเดินมักจะไปไม่ถึงส่วนปลายวิถีประสาท 
ซึ่งเป็นเวลามี หรือใกล้มีไข้

4.1 ดูอาการม้ามบวมย้อย วิธีนี้เป็นวิธีตรวจคนไข้เป็นป้าง 
หรือเป็นไข้ป่า ซึ่งไข้นั้นทำให้ม้ามย้อย โดยการอักเสบ
ของพิษไข้ เราจะตรวจได้ คือ ใช้มือกดที่ชายโครงที่สุด
ตรงด้านซ้าย จะพบม้าม ถ้าบวมย้อยลงมา และมีระยะ 
แบ่งอาการของม้ามย้อยนี้เป็น 3 ระยะ คือ 



1) ระยะแรก จะพบม้ามย้อยลงมาเพียงเล็กน้อย
    เสมอระดับชายโครง

2) ระยะกลาง จะพบม้ามพ้นชายโครงลงมาสัก 2 – 3 นิ้ว 
    แต่ไม่ถึงแนวเส้นสะดือ

3) ระยะสุด จะพบม้ามย้อยอยู่ในแนวเส้นสะดือ

5. การตรวจตามต่อมต่างๆ คนไข้ที่ป่วยเป็นไข้เนื่องจาก
ถูไม้ทิ่ม แทง ถูกอาวุธตามส่วนปลายอวัยวะ 
มักจะมีอาการต่อมอักเสบ (ไข้พิษ ไข้กาฬ 
บางอย่างก็ปรากฏอาการต่อมอักเสบเหมือนกัน 
ดุูตำราไข้ฉกาจ) ต่อมหรือเรียกตามศัพท์สามัญว่า 
ไข่ดัน หรือลูกหนู จะคลำพบที่ 2 หน้าขา ใต้รักแร้ 
และที่ใต้คาง ต่อมเป็นเม็ดกลมๆ เมื่อมีอาการอักเสบ 
จะบวมโต ผิดธรรมดา และคนไข้รู้สึกเจ็บ

6. ตรวจโดยวิธีสังเกต ในวิธีตรวจไข้โดยวิธีสังเกตนี้ 
แพทย์พึงใช้ประกอบเพื่อพิจารณาเหตุผลให้แน่วแน่ 
และเพื่อประกอบการตรวจโดยวิธีต่างๆ 
ที่ได้อธิบายมาแล้ว และที่จะอธิบายต่อไป 
กล่าวเป็นข้อสังเขปสำหรับการสังเกต เพื่อจะวินิจฉัย
ใช้ยาดังต่อไปนี้

1) ถ้าคนไข้มี
ผิวซีดเหลือง ตาเหลืองเขียว
    เนื่องจากดีซ่านพิการ

2) ถ้า
ผิวหนังเหลืองแห้ง ริมฝีปากแห้ง 
    เนื่องจากโลหิตพิการ

3) ถ้าเส้นโลหิตตามีน้อย เปลือกตาซีด ตาโรย 
    เนื่องจากเส้นประสาทพิการ และนอนไม่หลับ 
    มักจะเป็นลม และอุจจาระผูก

4) ถ้ามีการหายใจขัดๆ และสะท้อน 
    เนื่องจากหลอดลม หรือปอดพิการ

5) ถ้าตามผิวหนังมีผื่นแดงทั้งตัว 
     เนื่องจากโลหิตทำพิษ หรือโลหิตซ่าน

อีสุกอีใส

เริม งูสวัด
เกลื้อน
กลาก 
 หิด
 หูดข้าวสุก
 เหือด (หัดเยอรมัน)
 แผลพุพอง
 ลมพิษ
 สะเก็ดเงิน (เรื้อนกวาง)
ไฟลามทุ่ง
ส่าไข้ ผื่นกุหลาบ หัดเทียม
 ฝี
 หิด โลน
 ซิฟิลิส
สังคัง กลากเกลื้อน
 ผื่นแพ้ยา
มะเร็งผิวหนัง

6) ถ้าตามปลายอวัยวะ เช่น มือ เท้า ริมฝีปากสั่น 
    เนื่องจากเส้นประสาทพิการ

7. การตรวจด้วยเครื่องฟัง เครื่องฟังเป็นหลอด 
เพื่อนำเสียงให้ชัด แต่จะเอาหูเปล่าฟังก็ได้ 
ใช้ในโรคที่เกิดแก่ปอด และหัวใจ หรือโรคที่เกิด
จากเส้นโลหิตพอง เช่น เป็นฝีเส้นโลหิต ในการฟังนั้น
ให้สังเกตเสียงข้างใน จะเป็นเสียงเกิดขึ้นผิดจาก
ธรรมดาอย่างไร เช่น ฟังปอด สังเกตเสียงลมเดินในปอด 
ถุงลมในปอดยืดตัวหุบตัว และปอดเบียดซี่โครงด้วย 
หรือฟังหัวใจสังเกตุลิ้นหัวใจปิดกัน โลหิต 
และกล้ามเนื้อหัวใจบีบสูบโลหิตเสียงต่างๆ 
ในโรคนั้นจะมีแจ้งอยู่ทุกๆโรคที่จะใช้เครื่องฟัง 
ให้จดปากกล้องสนิทกับผนัง ถ้ามีรูรั่วเสียงจะไม่แน่น 
หรือที่สาย และกระบอกต้องไม่มีสิ่งใดมาประกบ เช่น 
ผ้า เป็นต้น ย่อมทำให้เสียงผิดคลาดเคลื่อน
           แพทย์ทุกๆ คน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีเครื่องฟัง 
ซึ่งเครื่องฟังนี้มี 2 ชนิด คือ

1) ชนิด หูเดียว

2) ชนิด 2 หู

หมายเหตุ ชนิด 2 หูนี้ ยังมีชนิดเพิ่มเสียง 
และชนิดที่มีดีกรีการเต้นของหัวใจได้ 
ประโยชน์ของมัน คือ เพื่อการชำรุด 
และการเปลี่ยนแปลงของปอด และหัวใจ 
ฟังดูอาการบวมที่มีหนอง ฟังหัวใจทารกในครรภ์ 
เพื่อทราบความเป็นอยู่ทารกในครรภ์

การตรวจด้วยเครื่องฟัง ชนิด 2 หู 



7.1 ตรวจปอด


          การใช้เครื่องฟังๆ ปอด เพื่อให้ทราบว่าปอดปกติ 
หรือไม่ เพราะปอดของมนุษย์ประกอบด้วยถุงลม
จำนวนมาก การตรวจให้ใช้เครื่องหูฟังที่หน้าอก 
ด้านข้างซ้าย ขวา ข้างหลัง ที่ใต้สะบัก และที่ซอกไห
ปลาร้า และให้คนไข้หายใจยาวๆ สั้นๆ ฉะนั้น 
ถ้ามีเสียงคร๊อกแคร๊ก ปอดมีหนอง หรือเป็นหืด 
เป็นหลอดลมอักเสบ แต่ถ้าดังที่ตอนหลอดลม 
มักเป็นหลอดลมอักเสบ เนื่องจากหวัด หรือไข้หวัด
อย่างแรง ถ้าดังตอนขั้วปอด มักจะเป็นแก่ผู้ที่เป็นหืด 
หรือวัณโรคระยะแรก (โรคหืดมี 2 ชนิด คือ 
หืดที่เป็นหลอดลมอาการ และที่ขั้วปอด)


7.2 ตรวจหัวใจ



         การตรวจหัวใจนั้น เป็นประโยชน์ยิ่งของแพทย์ 
ในการที่จะวินิจฉัยในโรคต่างๆ และการแปรปรวน
ในการสูบฉีดโลหิตของหัวใจ การตรวจใช้เครื่องฟังๆ 
ที่ระดับราวนมเบื้องซ้าย ฉะนั้น จะทราบว่า
  • คนธรรมดา หัวใจเต้นตั้งแต่ 72 ถึง 100 ตุ๊บ 
       ต่อ 1 นาที

  • คนไข้ หัวใจเต้นตั้งแต่ 100 ตุ๊บขึ้นไป ต่อ 1 นาที

7.3 ฟังหัวใจทารกในครรภ์

         ให้ตรวจโดยเครื่องฟัง โดยวางเครื่องฟัง
ที่หน้าท้องส่วนใต้สะดือ เหนือหัวเหน่า ในแนวเส้นท้อง
ของผู้มีครรภ์ จะได้ยินหัวใจของทารกเต้นถนัด

โรคอะไรบ้างที่จะทราบได้ จากการฟังหัวใจ และปอด

1) โรคไข้ ไข้หวัด ไข้รากสาด จะมีเสียงที่ปอดเวลาฟัง
ด้วยเครื่อง มีเสียงคล้ายท่อลม และจะได้ยินเสียง
หวีดๆ อยู่ทั่วไป เคาะด้วยมือที่หน้าอก
จะได้ยินเสียงดังก้อง เสียงฟังหัวใจ 
เวลาหายใจออกยาวกว่าปกติ

2) โรคถุงลมยาน เวลาไอ เสมหะยังไม่ออกจะมีเสียงทึบ 
    และเสมหะออกแล้วจะมีเสียงโปร่งเหมือนเป็นโพรง

3) โรคหืด ฟังจะได้ยินเสียงเข้าถี่ หายใจออกยาว 
    เสียงปอดคร๊อกแคร๊กเสมอ

4) โรคปอดอักเสบ โรคผอมแห้ง ไตอักเสบ หัวใจพิการ 
    โรคสมอง ฟังหัวใจจะมีเสียงลมหายใจเป็นเสียงฟูดๆ 
    และเสียงเปียกๆ

5) ไข้พิษ เสียงปอดดังทึบ หัวใจเต้นเร็ว แต่เสียง
    ลมหายใจดังผิดปกติ มีเสียงหายใจยาว และสั้น

6) ไข้ปวดเมื่อย ไข้อีดำอีแดง เสียงหัวใจเต้น
    ไม่สม่ำเสมอ เสียงลิ้นในหัวใจรัวสั่น

7) ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ มักเป็นแก่คนไข้ในโรคต่อไปนี้

(1) วัณโรค

(2) ไข้ปวดเมื่อย

(3) ไข้ตะวันออก (ไข้ป่า)

(4) ไตอักเสบ

ข้อสังเกต คนไข้จะรู้สึกยอกในช่องซี่โครงที่ 3 – 4 
ด้านตรงหัวใจความร้อนสูง ฟังดูจะได้ยินเสียง
ติดขัดเสียดสีกัน เสียงหัวใจเต้นเบาอ่อน

8) โรคปวดเมื่อยของสตรี โรคลมขัดข้อ บวม 
ปัสสาวะเป็นหนอง ใช้มือคลำที่หน้าอกด้านซ้าย
ตรงหัวใจจะรู้สึกสะเทือนครืดๆ ใช้มือเคาะจะมีเสียง
ก้องบริเวณทางขวาของกระดูกหน้าอก เครื่องฟัง
ที่ปลายหัวใจ (ใต้ราวนม) จะได้ยินเสียงดังครืดๆ 
ชีพจรอ่อนเบา ไม่สม่ำเสมอ เสียงปอดฟังขัดๆ

9) โรคต่อไปนี้ ที่ตรวจได้ทางชีพจรว่าผิดปกติ
(1) โรคปวดศีรษะ และโรคสมอง และโรคสมอง
     ถูกกระทบกระเทือน

(2) ธาตุเสีย

(3) หัวใจพิการ

(4) ถูกยาพิษ หรือเสพยาเสพติด

10) สาเหตุที่หัวใจเต้นเร็วมาก เนื่องจาก

(1) ไข้ธรรมดา

(2) ไข้ต่อมอักเสบ

(3) โรคขลาดกลัว (เนื่องจากโรคประสาท)

11) สาเหตุที่หัวใจเต้นช้า

(1) คนคลอดบุตร

(2) แรกหายจากไข้พิษ หรือไข้อย่างแรง

(3) โรคน้ำดีซ่าน

(4) โรคสมอง

(5) โลหิตจาง โลหิตน้อย โลหิตปกติโทษต่างๆ

(6) เหนื่อยอ่อนเพลีย ฯลฯ

8. ตรวจการเคาะ (เคาะด้วยมือ) วิธีเคาะนั้น 
ให้เอานิ้วซ้ายคว่ำมือลงกับหนัง แล้วเอานิ้วกลาง
มือขวาเคาะหลังมือตน จะได้ยินเสียงทึบโปร่ง
ตามที่ใต้นิ้วตรงนั้น ใช้เคาะท้องเสียงโปร่ง
เป็นลมอยู่ข้างใน รู้ว่าท้องขึ้น เป็นต้น 






9. ตรวจอุจจาระ และปัสสาวะ

9.1 อุจจาระ

(1) สีดำ แดง เป็นเมือกข้น มักเป็นด้วยไข้รากสาด 
    บิด ทุกชนิด ไข้พิษ ไข้กาฬ อติสาร ธาตุพิการ

(2) สีอุจจาระเทา เป็นมูลโค เนื่องจากธาตุหย่อน 
    โรคซางเด็ก โรคไข้กาฬ

(3) 
สีเหลือง เขียว เนื่องจากดีพิการ ในโรคไข้ป่า 
    ไข้ป้าง อติสาร


9.2 ปัสสาวะ

(1) สีแดงจัด เนื่องจากไข้เพื่อดี และโลหิต 
    เช่น ไข้ป่า ไข้ป้าง

(2) 
สีเหลืองแก่ เนื่องจากดี ในไข้ป่า ไข้ป้าง ไข้พิษ

(3) สีชาแก่ เนื่องจากไตพิการ ในโรค ไตพิการ 
    ไข้รากสาด ไข้พิษ และโรคเบาหวาน


10. ตรวจลิ้น ตา และปาก

1) ตรวจลิ้น







(1) ลิ้นเป็นละออง มักเนื่องมาจากไข้ธรรมดา 
    โรคลำไส้พิการ กระเพาะอาหาร และธาตุพิการ 
    และในไข้พิษ

(2) ลิ้นแตกแห้ง เป็นเม็ด เป็นขุม เนื่องจากธาตุพิการ 
    ไข้พิษ ไข้ป่า ไข้ป้าง ไข้รากสาด

(3) ไข้กาฬ ที่ลิ้นจะเป็นเม็ดกาฬ

(4) น้ำลายพิการ ทำให้ลิ้น และปากเปื่อย










ลิ้นสีแดงสด หมายถึงร่างกายขาดวิตามิน

การตรวจศีรษะ ใบหน้า ตา หู จมูก ปาก และคอ

การตรวจคอ

2) ตรวจตาทั่วไปสำหรับคนไข้



















ตาแดง

ต้อกระจก

ต้อหินคนชรา

(1) ตาซีดขาวโรย ที่เปลือกตาเผือดดำ บางรายตาเขียว 
ขุ่นมัว เนื่องจากโลหิตน้อย น้ำดีพิการ 
และวิถีประสาทพิการ โรคนอนไม่หลับ ไข้จับทุกชนิด


การตรวจตา หู จมูก
https://youtu.be/j_0CLMVVHTo


3) ตรวจปาก






(1) ปากเหม็น เนื่องจากโรคฟัน โรคอาหาร 
    และธาตุพิการ น้ำลายพิการ

(2) ปากแตกระแหง เนื่องจากธาตุพิการ ลมเป่าคอ 
    โลหิตน้อย และไข้ทุกชนิด









ตรวจร่างกาย head to toe

https://www.youtube.com/watch?v=3TN73YgjodQ

การตรวจร่างกาย Head to toes และการประเมินภาวะสุขภาพ

https://www.youtube.com/watch?v=vkdJsSpXOdE


การใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบmanual

https://www.youtube.com/watch?v=owkJx3FNBTY


การวินิจฉัยโรค ( การประมวลโรค)
         การตรวจโรคตามที่กล่าวมาแล้ว 
และยังมีการตรวจอีกหลายวิธีนั้น มิใช่ว่าแพทย์
จะต้องทำการตรวจทุกสิ่งทุกอย่างไปก็หามิได้ 
ย่อมสุดแต่ความเหมาะสมกาลเทศะสำหรับ
คนไข้รายใดรายหนึ่ง แล้วแต่เหตุผล 
ที่จะต้องเกี่ยวโยงไปถึง ซึ่งจะต้องขอมอบให้เป็น
ความสามารถของแพทย์ผู้ได้ลงมือปฏิบัติกับคนไข้
เฉพาะหน้า เมื่อตรวจแล้ว พอที่จะสรุปความเห็นวินิจฉัย
ประมวลโรคได้ โดยอาศัยหลัก 5 ประการดังนี้

1. คนเจ็บป่วยด้วยการเช่นนี้ มีอะไรพิการอยู่ในสมุฏฐาน
    และพิกัดใด รวมความแล้วควรจะสมมุติเรียกว่าโรคอะไร

2. โรคนั้นมีที่เกิดแต่อะไรเป็นเหตุ รีบคิดค้น
เมื่อได้ความแล้ว พึงเอาอาการนั้นๆ มาเป็นหลัก
วิเคราะห์ว่า คนเจ็บนั้นเกิด โรคด้วยเหตุอันใด 
มีอะไรขาดหรือเกินหรือกระทบกระเทือน อะไร 
จึงเป็นเหตุให้เจ็บไข้

3. โรคเช่นนี้จะบำบัดแก้ไขโดยวิธีการใดก่อน 
เมื่อเห็นทางแก้ไขแล้ว จึงวิเคราะห์เลือกยา
ที่จะใช้บำบัดต่อไป

4. สรรพคุณยาอะไร จะต้องใช้อย่างละมากน้อย
    เท่าใด ให้รับประทานเวลาอะไร ขนาดเท่าใด

5. เริ่มวางยาตามลักษณะโรคที่ตรวจพบ สุดแต่จะเห็น
    สมควรจะให้ยาบำบัดโรค ที่ทรมานสำคัญอย่างใดก่อน

         ส่วนยาที่ที่ท่านตั้งตำรับบอกวิธีให้ทำไว้ 
จักต้องใช้อะไรมีส่วนเท่าไร เมื่อปรุงผสมแล้ว
เรียกชื่อว่า อย่างไร ยาสำหรับแก้โรคต่างๆนั้น 
ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์แพทยศาสตร์ฉบับหลวง 
และเวชศึกษาอย่างมากมาย ล้วนแต่เป็นตำรายาที่ดี
ทั้งสิ้น ซึ่งเคยบำบัดโรคร้ายหายมาแล้วทั้งนั้น 
เมื่อท่านจะจัดปรุงขึ้น จงใช้ความพยายามอย่าง
ประณีต ในการคัดเลือกชั่งตวงให้ถูกต้องจริงๆ 
จงสงวนศักดิ์ของยาไทยไว้ ให้เป็นยาที่มี 
สรรพคุณอนันต์อันหาคามิได้ และสมควรเป็นตำรับ
คู่มือที่ทรงเกียรติ แต่แพทย์แผนโบราณ ซึ่งได้ศึกษา 
สืบมรดก ต่อมา ท่านจะได้เป็นเวชกรผู้เชี่ยวชาญ
ไปในภายภาคหน้า

       
 
ลักษณะอาการโบราณโรค

         บัดนี้ขอกล่าวถึง รูปลักษณะและอาการ
ของโรคต่างๆ ซึ่งท่านโบราณาจารย์ได้วางไว้
เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค ตามพระคัมภีร์แพทย์
อันเป็นหลักสำคัญของแพทย์แผนโบราณ 
ควรยึดถือไว้เป็นแบบฉบับ แม้ว่าจะเป็นโบราณ
หรือโรคเก่าแก่อะไรก็ตาม แต่ก็ยังปรากฏเป็นโรค
ที่มีพิษร้ายแรงอยู่ถึงปัจจุบันนี้เหมือนกัน 
แพทย์ผู้ศึกษาจงใช้วิจารณญาณวินิจฉัยให้เหมาะสมแก่ภูมิประเทศ และกาลสมัย ก็จะเป็นคุณประโยชน์
อย่างมหาศาล จะได้นำมากล่าวเฉพาะโรคที่ได้พบเห็น
บ่อยๆ จากคัมภีร์แพทย์แผนโบราณ เพื่อสะดวกแก่
การท่องจำของผู้ศึกษาที่จะสอบความรู้วิชาแพทย์

--------------------------------

ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต 

อ้างอิง ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรม เล่ม 2
กองประกกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการด้านสุขภาพ


Credit:  ภาพนำมาจาก internet ซึ่ง share กันใน Google,  Face Book และได้ถ่ายทำเองบ้าง เพื่อการศึกษาแพทย์แผนไทยให้ง่ายขึ้น เป็นการสืบทอดต่อไปยังอนุชน และผู้สนใจ ให้มีความรู้ในการรักษาบำบัดโรคพึ่งพาตนเองได้ ขอขอบคุณเจ้าของภาพ ขอให้อนุโมทนาส่วนบุญกุศล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขัง พลัง และสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงามโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ


ตรวจทานแล้ว



No comments:

Post a Comment