Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อกนี้ / เว็บ

Sunday, January 26, 2014

เภสัชกรรมไทย เภสัชกรรม-วิธีปรุงยา-การชั่งตัวยา-การคัดเลือก การเก็บตัวยา-การใช้ตัวยาอันตราย-น้ำกระสายยาแก้โรคต่างๆ

เภสัชกรรมไทย
วิธีปรุงยา การชั่งตัวยา
การคัดเลือก การเก็บตัวยา
การใช้ตัวยาอันตราย
น้ำกระสายยาแก้โรคต่างๆ


จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

เภสัชกรรมไทย
เภสัชกรรม


เภสัชกรรม คือ รู้จักการปรุงยา ผสมเครื่องยา
หรือตัวยาตามที่กำหนดในตำรับยา 
หรือตามใบสั่งยา

วิธีปรุงยา

การปรุงยาตามตำราแพทย์แผนโบราณ คงจะเข้าใจดีว่า การปรุงยาก็หมายถึงการผสม การผสมนี้ก็ต้องใช้วัตถุต่างๆตามความต้องการของแพทย์และเภสัชกรเพื่อนำเอามาแปรสภาพให้เป็นยารักษาและป้องกันโรคที่เกิดขึ้น ให้มีสรรพคุณแรงพอที่จะบำบัดโรคได้ เภสัชกรก็คือเป็นผู้ที่รอบรู้วิชาเภสัชกรรมได้ดี รู้ซึ้งถึงวัตถุต่างๆว่ามีรูปร่างลักษณะมีฤทธิ์ที่จะแก้โรคได้อย่างไรและเป็น ผู้แปรสภาพวัตถุต่างๆ ให้กลายเป็นยารักษาโรคได้

การปรุงยา เภสัชกรต้องมึวามเข้าใจต่อตัวยา การประสมประสานตัวยานั้น มีความหมายอย่าไร หรือตัวยาจะมีความสัมพันธ์กัน หรือมีฤทธิ์ต่อต้านกัน หรือจะเสริมฤทธิ์ ทำให้มีอาการ ข้างเคียงเกิดขึ้นในเมื่อใช้ต่อผู้ป่วย หรือไม่มีฤทธิ์พอจะทำลายโรคได้

ตัวยาหรือวัตถุต่างๆ ย่อมมีสรรพคุณปรากฏอยู่ในตัวแล้วก็ตาม แต่หากจะนำมาใช้ทำยา ตัวยาสิ่งเดียวย่อมไม่มีสรรพคุณแรงพอที่จะใช้รักษาโรคได้ เพราะมีกากเจือปนมาก ทั้งยังไม่เรียกว่าเป็นยา คงเป็นวัตถุสิ่งหนึ่ง เป็นเครื่องประกอบยา เรียกว่าเครื่องยา หรือตัวยาเท่านั้น ท่านคณาจารย์แพทย์ทั้งหลายเป็นผู้ชำนาญการ จึงได้รวบรวมตัวยาหลายสิ่งหลายอย่างนับตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไป ผสมรวมกันเข้าจึงเรียกว่า ปรุง ผลผลิตจากการปรุง จึงได้ชื่อว่ายาสำหรับบำบัดและรักษาโรคที่เกิดขึ้นได้ สมมุติว่าท่านจะเอากระเพรา (ตัวยา) แต่อย่างเดียวมาต้มกับน้ำหรือละลายน้ำ ก็ไม่เรียกว่ายา ถ้าจะให้เรียกใกล้เคียงก็แค่น้ำกระสายยาเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็กลายเป็นอาหารไป ยาไทยนั้นปรุงขึ้นจากพืช สัตว์ และธาตุ ที่เกิดขึ้นจากพื้นภูมิประเทศอันเกิดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติของมัน เมื่อยังมิได้ทำการสกัดกลั่น เอาแต่ตัวยาจริงๆ มาปรุงผสมเป็นยา ก็ย่อมมีกากและสิ่งที่ไม่ใช่ตัวยาปะปนอยู่มาก จำกำหนดให้ใช้ตัวยารวมกันหลายสิ่ง ผสมกันเข้าเป็นยา

หลักการปรุงยา ยาไทยปรุงขึ้นจากพืช สัตว์ แร่ธาตุ จากวัตถุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมิได้สกัดกลั่นเอาเฉพาะเนื้อยาที่แท้ จึงมีส่วนที่เป็นกากเจือปนอยู่มาก ดังนั้น ยาไทยจึงกำหนดให้ใช้ตัวยาที่มีปริมาณมาก และตัวยาหลายสิ่งรวมกัน อย่างไรก็ตามโครงสร้างของยาไทยสามารถแบ่งออกสรรพคุณของตัวยาออกเป็นส่วนๆได้ดังนี้ คือ

ตัวยาตรง คือ ยาที่มีสรรพคุณบำบัดโรคและไข้ โดยเฉพาะเรื่องอาจจะมีรสขมมาก รสเปรี้ยวมาก มีรสเค็มมากๆ ไม่อาจจะรับประทานได้มาก เพราะรสไม่อร่อย และโรคแทรกก็มี แพทย์จึงได้หาตัวยาช่วยอีกแรงหนึ่งจะได้รักษาโรคและไข้หายเร็วขึ้น

ตัวยาช่วย คือ เมื่อมีโรคแทรก โรคตาม หรือโรคหลายโรครวมกัน แพทย์ก็ใช้ตัวยาช่วยในการรักษาไอ ก็มีตัวยากัดเสมหะช่วยด้วย

ตัวยาประกอบ เพื่อป้องกันโรคตามและช่วยบำรุงแก้ส่วนที่หมอเห็นควร หรืออาจจะใช้เป็นยาคุมฤทธิ์ยาอื่น เช่น ลูกผักชีล้อม ใส่เพื่อแก้อาการไซ้ในท้อง ในยาต่างๆ

ตัวยาชูกลิ่น ชูรส และแต่งสีของยา ตัวยาชูกลิ่นนี้ หากบางครั้งการปรุงยารักษาโรค อาจจะมีกลิ่นไม่น่ารับประทาน ก็ต้องอาศัยตัวยาชูกลิ่นให้น่ารับประทานหรือบางคราวยามีรสขมมากเกินไป ก็ควรใช้ยาชูรสให้รับประทานได้ง่าย เช่น ควรเติมรสหวานเข้าไปบ้างก็ควรเติม ใช่แต่เท่านั้น สีของยาถ้ามีสีสดก็น่ารับประทาน หรือสีแดงอ่อนๆ ก็น่ารับประทาน

ทั้ง 4 ประการนี้ ซึ่งได้กล่าวมาพอสังเขป เป็นหลักของการปรุงยา ซึ่งตามหลักของการปรุงยาสากลก็ยังนิยมใช้กันอยู่จำนวนหลายสิ่งหลายอย่างเหล่านี้ ต่างรวมและแบ่งสรรพคุณกันไป ทำการบำบัดรักษาโรคและรวมพลังสรรพคุณรุนแรงขึ้น เพื่อต่อสู้กับสมุฏฐานของโรคได้ ซึ่งอาจมีโรคแทรกโรคตามผสมกันอยู่ดังได้บรรยายมาแล้ว

ขั้นตอนการปรุงยา เภสัชกรผู้ทำการปรุงยา จึงจำเป็นยึดตำรับยาที่จะปรุงหรือตามใบสั่งแพทย์เป็นหลักสำคัญ การปรุงยาต้องอาศัยตำรับยาที่จะทำการปรุงยาทุกครั้ง ตำรับนั้นๆ จะบอกชื่อตัวยา ส่วนขนาด วิธีใช้ และวิธีปรุงไว้ทุกขนาน เมื่อได้ใช้ตำรับยาเป็นหลักแล้ว ก็ควรพึงระลึกอยู่เสมอว่า การปรุงยาที่จะให้มีสรรพคุณดีนั้นควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ยามีสรรพคุณดี การปรุงยาให้มีสรรพคุณดี อาศัยหลักดังต่อไปนี้คือ

พิจารณาตัวยา ก็คือ หลักเภสัชวัตถุนั่นเอง การปรุงยานั้นตำราบอกไว้ให้ใช้ส่วนของพืช สัตว์ และธาตุ ก็ควรใช้อย่างนั้น เป็นต้นว่า พืชวัตถุให้ใช้เปลือก ราก หรือ ดอก ฯลฯ สัตว์วัตถุ ให้ใช่ส่วนใด เช่น กระดูก หนัง เขา ดี เลือด นอ งา ฯลฯ ธาตุวัตถุให้ใช้ดิบๆ หรือทำการสะตุ เสียก่อน เช่น สารหนู สารส้ม จุนสี กำมะถัน ฯลฯ ดังนี้ ธาตุบางชนิด ควรทำการสะตุหรือผสมใด้เลย นอกจากทั้งพืช สัตว์ และธาตุควรใช้ขิงสด ขิงแห้ง ลูกสมอไทยอ่อน ลูกสมอไทยแก่ ดังนี้เป็นต้น ตัวยาบางอย่างแปรสภาพ สรรพคุณก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ตัวยาบางอย่างมีฤทธิ์แรงจะเป็นอันตราย ต้องฆ่าเสียก่อน เช่น เมล็ดสลอด ยางสลัดได ฯลฯ ซึ่งวิธีฆ่า และแปรสภาพที่มีฤทธิ์จะได้กล่าวในตอนต่อไป ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

พิจารณาสรรพคุณตัวยาแต่ละอย่าง ก็คือ หลักสรรพคุณเภสัช คือ ให้รู้จักรสของตัวยาเสียก่อนเมื่อทราบรสของตัวยาแล้ว รสจะแสดงให้รู้สรรพคุณได้ ถึงแม้ว่าตัวยาในโลกนี้จะมีมาก เสียจริง แต่รสของยานั้นกำหนดไว้เพียงจำนวนน้อย ดังได้บรรยายมาแล้วในตอนสรรพคุณเภสัช จึงจะไม่กล่าวให้ยืดยาวต่อไป รสหรือสรรพคุณของตัวยานั้น ถ้าจะทำการปรุงก็อย่าให้รสยาขัดกัน หรือตัวยารักษาโรคดีอยู่แล้วแต่เพิ่มตัวยาที่ฆ่าสรรพคุณยาขนานนี้เข้าไปทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ เช่น หญ้านางแดง รางจืด ตัวยาพวกนี้ถ้าเพิ่มเข้าไปทำให้รสและสรรพคุณเสียไป ตัวยารสเค็ม ควรใช้ยารสอะไรผสมจึงจะมีสรรพคุณดี หรือตัวยาบางอย่างมีอันตรายควรใส่แต่น้อย หรือสะตุเสียก่อนเหล่านี้ แล้วแต่ความฉลาดของเภสัชกรผู้ทำการปรุงยานั้น

พิจารณาดูขนาดและปริมาณของตัวยา ขนาดของตัวยานั้นๆ ให้เอาปริมาณมากน้อยเท่าใดสิ่งละหนักเท่าไร โดยตำรับได้กำหนดลงไว้หนักสิ่งละ 1 สลึง หรือ 1 บาท ก็ควรพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ควรที่ผู้เป็นเภสัชกรพิจารณาดูให้รอบคอบก่อนจึงทำการปรุงยาเป็นต้นว่ายาขนานนี้มีตัวยาที่รสเผ็ดร้อนมากอยู่แล้ว ก็ยังเพิ่มเมล็ดพริกไทยเท่ายาทั้งหลาย จะสมควรหรือไม่ประการใด แล้วแต่เภสัชกรพิจารณาดูให้ดีทั้งน้ำหนัก
ตัวยา
ก็ชั่ง ตวง ให้ถูกต้อง

ความสะอาดและความละเอียดรอบคอบเภสัชกร การปรุงยาที่จะให้มีสรรพคุณดีนั้นจะปราศจากความสะอาดหาได้ไม่ เป็นสิ่งสำคัญมาก การปรุงยา ตัวยาบางชนิดมีดินติดอยู่หรือพืชบางชนิดมีตัวหนอนติดอยู่หรือมดติดอยู่ในโพรงของรากยาก็เอามาบดโดยล้างไม่สะอาดใช่แต่เท่านั้นภาชนะในการปรงยา หั่นยา ครกตำยา ฯลฯ ก็ควรสะอาดด้วย แม้แต่ตัวเภสัชกรเองก็ล้างมือให้สะอาดเมื่อจะทำการปรุงยา นอกจากนี้เภสัชกรควรเป็นคนที่มีนิสัยละเอียด รอบคอบ ไม่เผลอเรอมักง่าย เช่นตำราบอกให้ปรุงมีตัวยา 20 สิ่งแต่ใส่เพียง 15 หรือ 16 สิ่ง โดยลืมตัวยาที่เหลือเหล่านั้นเสีย ซึ่งจัดว่าเป็นการเผอเรอ และตำราบอกให้บดละเอียดเป็นอณูสำหรับเป็นยานัตถ์ แก้ริดสีดวง เภสัชกรมักง่าย ขี้เกียจก็บดหยาบๆเวลาใช้ยา รักษาโรคก็ไม่เกิดผลและ มิหนำซ้ำเกิดโทษ แก่คนไข้ ดังนี้เป็นต้น

ปรุงยาให้ถูกวิธี ถูกหลักวิชาตามหลักของเภสัชกรรมวิธีปรุงยาตามตำรับแผนโบราณนั้นกำหนดไว้มี 28 วิธี การปรุงยานี้ควรที่จะค้นคว้าและพยายามศึกษาการปรุงยาให้ได้มาตรฐาน ทันความเจริญของโลกเสมอ เป็นต้นว่าน่ารับประทาน สะดวกในการใช้รักษาโรค รูปแบบของภาชนะบรรจุเหล่านี้ เป็นต้น หรือได้ปรุงเสร็จเรียบร้อย ก็ควรเขียนชื่อยาไว้ บอกขนาดและวิธีใช้ ตลอดทั้งสรรพคุณว่ารักษาโรคอะไร ปรุงเมื่อไร

การปรุงยาตามแบบแผนโบราณ

เภสัชกรรม คือ การปรุงยาที่ผสมใช้ตามวิธีต่างๆ 
ตามแผนโบราณ ซึ่งมี 28 วิธี ดังต่อไปนี้

1) ยาสับเป็นชิ้นเป็นท่อนใส่ลงในหม้อ 
เติมน้ำต้มแล้วรินแต่น้ำกิน

2) ยาดองแช่ด้วยน้ำท่าหรือน้ำสุรา 
แล้วรินแต่น้ำกิน

3) ยากัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์ 
และหยดลงในน้ำ เติมน้ำกิน

4) ยาเผาเป็นด่าง เอาด่างมาแช่น้ำไว้ 
แล้วรินแต่น้ำกิน

5) ยากลั่นเอาน้ำเหงื่อ เอาด่างมาแช่น้ำไว้ 
แล้วรินแต่น้ำกิน

6) ยาหุงด้วยมัน เอาน้ำมันใส่กล่อง 
เป่าบาดแผล และฐานฝี

7) ยาผสมแล้ว ต้มเอาน้ำบ้วนปาก

8) ยาผสมแล้ว ต้มเอาน้ำอาบ

9) ยาผสมแล้ว ต้มเอาน้ำแช่

10) ยาผสมแล้ว ต้มเอาน้ำชะ

11) ยาผสมแล้ว ต้มเอาน้ำสวน

12) ยาต้มเป็นผงแล้ว บดให้ละเอียด
ละลายน้ำกระสายกิน

13) ยาเผาหรือคั่วให้ไหม้ 
ตำเป็นยาผงบดให้ละเอียด ละลายน้ำกิน

14) ยาผสมแล้ว ทำเป็นผง 
กวนให้ละเอียดใส่กล่องเป่าทางจมูกและคอ

15) ยาผสมแล้วม้วนเป็นบุหรี่ หรือยัดกล้องสูบ

16) ยาผสมแล้ว มาเป็นยาทา

17) ยาผสมแล้ว ทำเป็นลูกประคบ

18) ยาผสมแล้วใช้เป็นยาพอก

19) ยาผสมแล้ว บดละเอียดเป็นผง
แล้วปั้นเป็นเม็ดหรือเม็ดลูกกลอน กลืนกิน

20) ยาผสมแล้ว บดผงปั่น เป็นแผ่น
หรือปั้นเป็นแท่ง แล้วใช้เหน็บ

21) ยาผสมแล้ว บดผงผสมตอกอัดเม็ด

22) ยาผสมแล้ว บดผงทำเม็ดแล้วเคลือบ

23) ยาผสมแล้ว ทำเป็นเม็ดแคปซูล 
(ต้องมีคำว่า “แผนโบราณ” อยู่บนแคปซูล)

24) ยาผสมแล้ว ห่อผ้าบรรจุลงในกลัก
แล้วเอาไว้ใช้ดม

25) ยาผสมแล้ว ใส่กล่องติดไฟใช้ควันเป่า
บาดแผลและฐานฝี

26) ยาผสมแล้ว เผาไฟหรือโรยบนถ่านไฟ 
ใช้ควันรม

27) ยาผสมแล้ว ต้มเอาไอลมหรืออบ

28) ยาผสมแล้ว กวนเป็นยาขี้ผึ้งปิดแผล 
ซึ่งเรียกว่ายากวน

การชั่งตัวยา  ผู้เป็นเภสัชกรจะต้องรู้จักการชั่งตัวยา โดยใช้มาตราต่างๆ เพื่อให้การปรุงยาเป็นไปตามตำรับยา หรือใบสั่งยา และการชั่งแบบโบราณ หมอนิยมใช้เครื่องหมาย “ตีนกา” บอกน้ำหนัก วางไว้ท้ายชื่อตัวยานั้น

เครื่องหมายตีนกา

เป็นเครื่องหมายที่หมอโบราณนิยมใช้บอกขนาดของตัวยาในใบสั่งยา มีลักษณะคล้ายเครื่องหมาย กากบาท ตำแหน่งต่างๆในเครื่องหมายจะบอกถึงมาตรา

เครื่องหมายตีนกาเทียบน้ำหนักที่ใช้ในตำรายาไทย



ตัวอย่างการอ่านค่าเครื่องหมายตีนกา 
อ่านได้ดังนี้ คือ 1 ชั่ง 2 ตำลึง 3 บาท 4 สลึง 5 เฟื้อง 6 ไพ 

มาตราชั่ง แบบโบราณ

4 ไพ        = 1 เฟื้อง
2 เฟื้อง    = 1 สลึง
4 สลึง      = 1 บาท
4 บาท      = 1 ตำลึง
20 ตำลึง  = 1 ชั่ง
50 ชั่ง      = 1 หาบ
1 ชั่ง        = 80 บาท
1 บาท     = 15 กรัม (เมตริก)
1 หาบ     = 50 ชั่ง = 60,000 กรัม (60 ก.ก.) 

มาตราชั่งเปรียบเทียบ ไทย – สากล (เมตริก)

1 หุน เท่ากับ    0.375          กรัม
1 ฬส     ”         0.1171875     ”
1 อัฐ      ”         0.234375       ”
1 ไพ      ”         0.46875         ”
1 เฟื้อง  ”          0.875            ”
1 สลึง    ”          3.750            ”
1 บาท    ”         15                  ”
1 ตำลึง  ”          60                 ”
1 ชั่ง       ”     1,200                 ”
1 หาบ    ”   60,000               กรัม 
หรือ เท่ากับ 60 กิโลกรัม


มาตรา สำหรับตวงของเหลว

1 ทะนาน จุ เท่ากับ 1 ลิตร เท่ากับ 1,000 ซี.ซี. 
หรือเท่ากับ 1 กิโลกรัม
1/2 ทะนาน จุ 1/2 ลิตร           ”         500 ซี.ซี.
15 หยด                               จุ ประมาณ 1 ซี.ซี.
1 ช้อนกาแฟ                       จุ ประมาณ 4 ซี.ซี.
1 ช้อนหวาน                       จุ ประมาณ 8 ซี.ซี.
1 ช้อนคาว                          จุ ประมาณ 15 ซี.ซี.
1 ถ้วยชา                             จุ ประมาณ 30 ซี.ซี.

1 ทะนาน จุประมาณ 1,000 ซี.ซี.

1 บิกเกอร์แก้ว จุประมาณ 1,000 ซี.ซี. (1,000 มล.)

1 ช้อนชา จุประมาณ 5 ซี.ซี.

1 ช้อนกาแฟ จุประมาณ 4 ซี.ซี.

1 ช้อนหวาน จุประมาณ 8 ซี.ซี.

1 ช้อนคาว จุประมาณ 15 ซี.ซี.

1 ช้อนโต๊ะ จุประมาณ 15 ซี.ซี.

1 ถ้วยชา จุประมาณ 30 ซี.ซี.

มาตราวัด แบบโบราณ

คำว่า องคุลี หมายเอา 1 ข้อของนิ้วกลาง 
 ตามมาตรา ดังนี้ คือ
2 เมล็ดงา               เป็น 1 เมล็ดข้าวเปลือก
4 เมล็ดข้าวเปลือก เป็น 1 องคุลี (วัดตามยาว)
15 องคุลี                เป็น 1 ชั้นฉาย

คำว่า กล่ำ ท่านเทียบมาจาก เมล็ดมะกล่ำตาช้าง 
ตามมาตราดังนี้ คือ
2 เมล็ดงา               เป็น 1 เมล็ดข้าวเปลือก
4 เมล็ดข้าวเปลือก   ”   1 กล่อม
2 กล่อม                     ”   1 กล่ำ เท่ากับ ครึ่งไพ
2 กล่ำ                        ”   1 ไพ
4 ไพ                          ”   1 เฟื้อง
2 เฟื้อง                      ”   1 สลึง
4 สลึง                        ”   1 บาท
4 บาท                       ”   1 ตำลึง
20 ตำลึง                   ”   1 ชั่ง
20 ชั่ง                       ”   1 ดุล
20 ดุล                       ”   1 ภารา

คำว่า หยิบมือ กำมือ กอบมือ เทียบ ไว้ดังนี้ คือ

150 เมล็ดข้าวเปลือก เป็น 1 หยิบมือ
4 หยิบมือ                       ”   1 กำมือ
4 กำมือ                          ”   1 ฟายมือ
2 ฟายมือ                       ”   1 กอบมือ
4 กอบมือ                       ”   1 ทะนาน
20 ทะนาน                      ”   1 สัด
40 สัด                             ”   1 บั้น
2 บั้น                               ”   1 เกวียน

การคัดเลือก, การเก็บตัวยา

ในการปรุงยาแผนโบราณ ผู้เป็นเภสัชกรแผนโบราณ จะปรุงยาให้ได้คุณภาพดีและยามีสรรพคุณดีนั้นจะต้องมีความรู้ความสามารถที่จะพิจารณาคัดเลือกตัวยาสมุนไพรได้อย่างถูกต้อง และมีสรรพคุณดี โดยมีหลักเกณฑ์ และวิธีการดังต่อไปนี้ 

1. ชนิดของตัวยา

การเก็บตัวยานั้น ต้องแน่ใจเสียก่อนว่า ตัวยานั้นถูกต้องถูกชนิดกับชื่อของตัวยาในตำรับยาแผนโบราณ ตัวยาบางชนิดมีหลายๆ ชื่อ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และภูมิความรู้ของเภสัชกรเอง ที่จะต้องรู้ว่า ชื่อนี้ ชนิดนี้ มีลักษณะต้น ใบ ลูก ดอก ราก 
เป็นอย่างไร

2. คุณภาพ

ตัวยาบางชนิด ถูกเก็บไว้นาน คุณภาพของตัวยาก็เสื่อมไปตามกาลเวลา หรือไม่มีสรรพคุณตามที่ระบุไว้ ซึ่งเภสัชกรจะต้องศึกษาถึงระยะเวลาการเก็บรักษาตัวยาต่างๆ ต้องพิถีพิถันคัดเลือก ดูตัวยาว่าเก่าหรือใหม่

3. ความสะอาด

ตัวยาที่นำมาปรุงยา ต้องมีความสะอาดไม่ว่าจะเป็นตัวยาสดหรือแห้งก็ตาม ต้องทำความสะอาดให้ปราศจากสิ่งปนเปื้อนต่างๆ เช่น ดิน ฝุ่นละออง เชื้อรา มูลสัตว์ รวมถึงการเก็บยาเพื่อสำหรับใช้ในโอกาสต่อไป ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บรักษานั้นเป็นประการสำคัญ ถ้าเก็บยาไว้ถูกวิธีโดยไม่ถูกแสงแดดหรือของร้อนจัด อากาศชื้น ถูกน้ำค้าง น้ำฝน เก็บรักษาไว้ในที่อากาศถ่ายเทดี ปลอดโปร่ง ก็อาจจะเก็บไว้ได้นานสรรพคุณไม่เสื่อม ใช้ได้นานขึ้นกว่ากำหนด

4. การใช้ตัวยาอันตราย

พระอาจารย์กล่าวไว้ว่า “วัตถุธาตุนานาชนิดในโลกล้วนแต่เป็นยาทั้งสิ้น” คำกล่าวนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นจริงหากใช้วัตถุนั้นได้อย่างถูกต้องตัวยาบางอย่างที่มีฤทธิ์แรง หากใช้เกินขนาดหรือใช้ ไม่ถูกวิธี ก็อาจทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เป็นพิเศษ ตัวยาหลายอย่างมีฤทธิ์แรง หากใช้เกินขนาดหรือใช้ไม่ถูกวิธี ก็อาจทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

1) ยาที่มีฤทธิ์แรง

    (1) เมล็ดสลอด มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย กินมากจะถ่ายมากเป็นอันตราย อ่อนเพลียเสียน้ำในร่างกายอาจถึงตายได้ สรพคุณ ถ่ายเสมหะ และโลหิตถ่ายน้ำเหลืองเสียและถ่ายพยาธิ

    (2) ยางตาตุ่ม มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย รับประทานมากถ่ายมาก ทำให้หมดกำลังอาจถึงตายได้ สรรพคุณ ถ่ายพยาธิ ถ่ายโลหิต และเสมหะ ถ่ายอุจจาระธาตุ 

    (3) ยางสลัดได มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย กินมากถ่ายมากทำให้หมดกำลังอ่อนเพลีย อาจตายได้ ประโยชน์ ถ่ายพยาธิน้ำเหลืองเสีย ถ่ายอุจจาระธาตุ ถ่ายพิษตานซาง


    (4) ลูกแสลงใจ มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ รับประทาน ชักกระตุก ถึงตายได้ สรรพคุณ บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท แก้พยาธิผิวหนัง แก้ลมอันกระเพื่อมในอุทร 

    (5) ยางฝิ่น มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ ระงับประสาท รับประทานมาก ระงับประสาท ทำให้หมดสติ อาจตายได้ สรพคุณทางยา แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้โรคบิด 
(เป็นยาเสพติด) 

    (6) กัญชา มีฤทธิ์แรงในทางเมา ทำให้ประสาทหลอน รับประทานมากทำให้เสียจริต เป็นบ้า สรรพคุณทางยา แก้ประสาทพิการ และเจริญอาหาร 

    (7) พระขรรค์ไชยศรี (หนาวเดือนห้า) มีฤทธิ์แรงในทางขับเหงื่อทำให้กายเย็นมากรับประทานมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สรรพคุณทางยา แก้ไข้ ดับพิษร้อน 
ลดความร้อนในร่างกาย ขับเหงื่อ 

    (8) ยางรักดำ มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ และทางถ่าย รับประทานมากทำให้ถ่ายมากหมดกำลัง อาจถึงตายได้ สรรพคุณทางยา ถ่ายน้ำเหลืองเสีย ถ่ายอุจจาระธาตุ ถ่ายพยาธิและถ่ายเสมหะ 

    (9) ปรอท มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ รับประทานมาก ทำให้เปื่อยพุพองและเบื่อเมา อาจตายได้ สรรพคุณทางยา แก้มะเร็ง คุดทะราด โรคเรื้อน รักษาโรคผิวหนัง และรักษาน้ำเหลืองเสีย 

  (10) สารหนู มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ รับประทานมาก ชักกระตุกทำให้ตายได้ สรรพคุณทางยา แก้มะเร็ง คุดทะราด โรคเรื้อน แก้ประดง รักษาน้ำเหลืองเสีย แก้โรคผิวหนัง และบำรุงโลหิต 

  (11) จุนสี มีฤทธิ์แรงทางกัดทำลาย รับประทานมาก กัดทำลายกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ฟันโยกหลุด สรรพคุณทางยา กัดหัวฝี หัวหูด รักษาคุดทะราด รักษาฟัน 

  (12) เมล็ดสบู่แด มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย รับประทานมาก ท้องร่วงอย่างแรง คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วงอย่างแรง กดหัวใจ กดการหายใจ ถึงตายได้ สรรพคุณทางยา เผาให้สุกรับประทานถ่ายอุจจาระธาตุ ทำให้อาเจียน ตำพอกบาดผล แก้โรคผิวหนัง

  (13) ยางหัวเข้าค่า มีฤทธิ์แรง รับประทานมาก ท้องร่วงอย่างแรง อ่อนเพลีย หมดน้ำถึงตายได้ สรรพคุณทางยา ฆ่าพยาธิภายนอก แก้ฟกบวม แก้คุดทะราด 

   (14) เมล็ดลำโพง มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ หลอนประสาท รับประทานมาก ทำให้เสียสติตาแข็ง หายใจขัด สรรพคุณทางยา บำรุงประสาท แก้กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ 

   (15) ยางเทพทาโร มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย รับประทานมากถ่ายแรง หมดน้ำ อ่อนเพลียถึงตายได้ สรรพคุณทางยา ถ่ายพยาธิ ถ่ายน้ำเหลืองเสีย

การสะตุ การประสะ การฆ่าฤทธิ์ยา

ในการที่จะนำเอาตัวยาที่มีฤทธิ์แรง มาใช้ประกอบตัวยาเพื่อให้เกิดสรรพคุณทางยานั้น มีวิธีการทำให้ฤทธิ์ของยาอ่อนลง จนสามารถนำมาใช้ ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย 
ดังจะได้อธิบายต่อไปนี้

การสะตุ

การสะตุ คือ การทำให้ตัวยามีฤทธิ์อ่อนลง หรือทำให้พิษของตัวยาน้อยลง หรือ ทำให้ตัวยานั้นสะอาดขึ้น 

1. การสะตุเหล็ก เอาเหล็กมาครางด้วยตะไบ และนำผงเหล็กที่ได้มาใส่ในฝาละมีหรือหม้อดิน บีบมะนาวลงไปให้ท่วมผงเหล็ก เอาขึ้นตั้งไฟให้แห้ง ทำให้ได้ 7 – 8 ครั้งจงผงเหล็กกรอบดีจึงนำไปใช้ปรุงยาได้
การสะตุสารส้ม เอาสารส้มมาบดให้ละเอียด นำมาใส่หม้อดิน เอาตั้งไฟจนสารส้มละลายฟู ขาวดีแล้ว ยกลงจากไฟ จึงนำไปใช้ปรุงยาได้ 

2. การสะตุรงทอง
เอารงทองมาบดให้ระเอียด แล้วห่อด้วยใบบัวหรือใบข่า 7 ชั้น นำไปปิ้งไฟจนสุขกรอบดี จึงนำไปใช้ปรุงยาได้ 

การสะตุรงทอง


3. การสะตุมหาหิงคุ์ นำมหาหิงคุ์มาใส่ภาชนะไว้ใช้ใบกระเพราะแดงใส่น้ำต้มจนเดือดเทน้ำกระเพราแดงต้มลงละลายมหาหิงคุ์ แล้วนำมากรองให้สะอาด จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

4. การสะตุดินสอพอง นำดินสอพองใส่หม้อดิน ปิดฝายกขึ้นตั้งไฟให้นานพอสมควรจนเห็นว่าดินสอพองสุขดีแล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้ 

5. การสะตุน้ำประสานทอง เอาน้ำประสานทองใส่หม้อดิน ตั้งไฟจนละลายฟูขาวทั่วกันดีแล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

6. การสะตุยาดำ นำเอายาดำใส่ลงในหม้อดิน เติมน้ำเล็กน้อย ยกขึ้นตั้งไฟ จนยาดำน้ำ กรอบดีแล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้


การสะตุดินสอพอง มหาหิงคุ์ สารส้ม เกลือ 
การประสะรงทอง
https://thaitraditionalmedicinebook.blog
spot.com/2016/07/blog-post_7.html

การประสะ

มีความหมาย คือ การทำให้พิษของตัวยาอ่อนลง เช่น การประสะยางสลัดได หรือ หมายถึงในยาขนานนั้นมีตัวยาตัวหนึ่ง ขนาดเท่าตัวยาตัวอื่น หนักรวมกัน เช่น ยาประสะไพล มีไพล จำนวนเท่าตัวยาอื่นทั้งหมดหนักรวมกัน

การประสะยางสลัดได ยางตาตุ่ม ยางหัวเข้าค่า

มีวิธีการทำเหมือนกันทั้ง 3 อย่าง คือ นำตัวยาที่จะประสะใส่ลงในถ้วย ใส่น้ำต้มเดือดๆ เทลงไปในถ้วยยานั้น กวนให้ทั่วจนเย็น รินน้ำทิ้งไป แล้วเทน้ำเดือดลงในยา กวนให้ทั่วอีก ทำอย่างนี้ประมาณ7 ครั้ง จนตัวยาสุกนี้แล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

การฆ่าฤทธิ์ตัวยา

คือ การทำให้พิษของยาอ่อนลง เช่น การฆ่าสารหนู จะทำให้สารหนูที่มีพิษมาก มีพิษอ่อนลงสามารถนำมาใช้ทำยาได้

การฆ่าสารหนู เอาสารหนูมาบดให้ละเอียด ใส่ฝาละมีหรือหม้อดินบีบน้ำมะนาวหรือน้ำมะกรูดใส่ไปให้ท่วมตัวยา ตั้งไฟจนแห้ง ทำให้ได้ 7 - 8 ครั้ง จนกว่าสารหนูกรอบดีแล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยา 

การฆ่าปรอท นำเอาทองแดง ทองเหลือง หรือเงิน ใส่ไว้ในปรอท ให้ปรอทกินจนอิ่ม จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

การฆ่าลูกสลอด
มีหลายวิธีเช่น
วิธีที่ 1 เอาลูกสลอดห่อรวมกับข้าวเปลือก ใส่เกลือพอควร นำไปใส่หม้อดิน ใส่น้ำลงตั้งไฟ จนข้าวเปลือกบานทั่วกัน จึงเอาลูกสลอดมาล้างให้สะอาด ตากให้ให้แห้ง จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

วิธีที่ 2 เอาลูกสลอด ต้มกับใบมะขาม 1 กำมือ ใบส้มป่อย 1 กำมือ เมื่อสุกดีแล้วจึงเอาเนื้อในลูกสลอด นำไปใช้ปรุงยาได้

การฆ่าชะมดเช็ด โดยหั่นหัวหอม หรือผิวมะกรูด ให้เป็นฝอยละเอียด ผสมกับชะมดเช็ด .ใส่ลงไปในใบพลูหรือช้อนเงิน นำไปลนไฟเทียน จนชะมดเช็ดละลาย จนหอมดีแล้ว จึงกรองเอาน้ำชะมดเช็ด นำไปใช้ปรุงยาได้

กระสายยา

กระสายยา คือ น้ำหรือของเหลวที่ใช่สำหรับละลายยา โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 

1. เพื่อให้ กลืนยาง่าย ไม่ฝืดหรือติดคอ และช่วยแต่งให้มีรส สี กลิ่น น่ารับประทาน

2. เพื่อช่วยให้ยามีฤทธิ์ตรงต่อโรค นำฤทธิ์ยาให้แล่นเร็ว ทันต่ออาการของโรค 

3. เพื่อเพิ่มสรรพคุณของยา ให้มีฤทธิ์แรงขึ้น หรือให้มีฤทธิ์ช่วยตัวยาหลัก ในการรักษาอาการข้างเคียง


น้ำกระสายยาแก้โรคต่างๆ

1) แก้อาเจียน ใช้ลูกยอหมกไฟ ต้มเอาน้ำ
เป็นกระสายยา หรือเอาลูกผักชีและเทียนดำ 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

2) แก้อาเจียนเป็นเลือด เอาว่านหอยแครง หรือเปลือกลูกมะรุม รากส้มซ่า ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

3) แก้ท้องเดิน เอาเปลือกต้นมะเดื่อชุมพร 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

4) แก้บิด เอากะทือ หรือไพล หมกไฟ 
ฝนกับน้ำเป็นกระสายยา

5) แก้กินผิดสำแดง (อาหารเป็นพิษ) 
เอาเปลือกแคแดง ต้มน้ำเป็นกระสายยา 
หรือเอาทับทิมทั้ง 5 ต้ม
กับน้ำปูนใส เอาน้ำเป็นกระสายยา

6) แก้หอบ เอาใบทองหลางใบมน 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

7) แก้สะอึก เอารากมะกล่ำเครือ 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

8) แก้ไข้เชื่อมมึน
เอาน้ำดอกไม้ เป็นกระสายยา

9) แก้ไข้มัว เอาน้ำจันทน์เทศ เป็นกระสายยา

10) แก้ไข้เพ้อคลั่ง เอาใบมะนาว 108 ใบ 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

11) แก้ไข้ระส่ำระส่าย เอารากบัว 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

12) แก้สวิงสวาย เอาน้ำซาวข้าว เป็นกระสายยา

13) แก้สะบัดร้อนสะบัดหนาว เอาน้ำมูตร 
เป็นน้ำกระสายยา

14) แก้เบื่ออาหาร เอาลูกผักชีลา 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

15) แก้น้ำลายเหนียว เอาเทียนดำห่อผ้า 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

16) แก้ขัดเบา เอากาฝากมะม่วง 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

17) แก้นอนไม่หลับ เอารากชุมเห็ดไทย 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

18) แก้กินอาหารไม่รู้รส เอาโกฐหัวบัว 
ชะเอมเทศ ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

19) แก้ทรางขึ้นทรวงอก
เอาผักเสี้ยนผี 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

20) แก้เด็กเป็นลมชัก เอาตะไคร้ ใบสะระแหน่ 
บดละลายน้ำดอกมะลิ เป็นกระสายยา

21) แก้กระหายน้ำ เอาเมล็ดมะกอกเผาไฟ 
แช่น้ำเป็นกระสายยา

22) แก้อกแห้งชูกำลัง เอาน้ำผึ้ง เป็นกระสายยา

23) แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง เอาน้ำข้าวเช็ด 
รังนกนางแอ่น ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

24) ทำให้มีกำลัง เอาน้ำนมสัตว์ เป็นกระสายยา

25) ขับลมให้แล่นทั่วกาย เอาน้ำส้มสายชู 
เป็นกระสายยา

26) ชูกำลังชื่นใจ เอาน้ำตาล 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

27) แก้ไข้หวัด ไอ เอาลูกมะแว้ง 
คั้นเอาน้ำผสมเกลือ เป็นกระสายยา 

28) แก้เสมหะแห้ง เอาน้ำมะนาว ผสมเกลือ 
เป็นกระสายยา

29) แก้ลมจุกเสียด เอาข่า 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

30) แก้ท้องขึ้น เอากะเพรา 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

31) กระทุ้งพิษไข้ เอารากผักชี 
ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยา

32) แก้ชีพจร เอารากกะเพรา 
ฝนกับน้ำดอกมะลิ เป็นกระสายยา 

ถ้าหากยาขนานใดไม่ได้แจ้งกระสายยาไว้ 
ให้ใช้น้ำสุกสะอาดเป็นกระสายยา

------------------------------------------------------------

ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต


------------------------------------------------------------


อ้างอิง: ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป 
 สาขาเภสัชกรรม
กองประกอบโรคศิลปะ


Credit:  ภาพนำมาจาก internet ซึ่ง share กันใน Google,  Face Book และได้ถ่ายทำเองบ้าง เพื่อการศึกษาแพทย์แผนไทยให้ง่ายขึ้น เป็นการสืบทอดต่อไปยังอนุชน และผู้สนใจ ให้มีความรู้ในการรักษาบำบัดโรคพึ่งพาตนเองได้ ขอขอบคุณเจ้าของภาพ ขอให้อนุโมทนาส่วนบุญกุศล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขัง พลัง และสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงามโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ตรวจแล้ว



No comments:

Post a Comment