Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อกนี้ / เว็บ

Tuesday, January 21, 2014

ความรู้พื้นฐาน ประวัติการแพทย์แผนไทย จรรยาแพทย์ และจรรยาเภสัช หลักเภสัช 4 ประวัติเบญจกูล

ความรู้พื้นฐาน ประวัติแพทย์แผนไทย  

จรรยาแพทย์เวชกรรมไทย และจรรยาเภสัช 

หลักเภสัช 4 ประวัติเบญจกูล


จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม
ความรู้พื้นฐาน ประวัติการแพทย์แผนไทย จรรยาแพทย์ และจรรยาเภสัช 
หลักเภสัช 4 ประวัติเบญจกูล

ประวัติการแพทย์แผนไทย
การแพทย์แผนโบราณสมัยก่อนรัตนโกสินทร์ 


 

                                                 
                                    ริดสีดวงทวาร (ภคันทละ)


 ประวัติความเป็นมาของการแพทย์แผนไทยโบราณ

       ประวัติการแพทย์แผนไทยโบราณนั้นเริ่มมีการบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล 

       ในสมัยนั้นมีหมอชีวกโกมารภัจจ์สนใจศีกษาวิชาแพทย์ เพราะเห็นว่าเป็นวิชาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้ใด ท่านเป็นผู้ที่มีความเมตตากรุณา ปรารถนาจะให้มนุษย์มีความสุข จึงได้ไปศึกษาวิชาการแพทย์ในสำนักทิศาปาโมกข์ในเมืองตักศิลา กับอาจารย์ชื่ออาเตรยะ ฤทธิยาธรดาบส ท่านเป็นผู้ที่ฉลาดมีความสามารถในการเรียนรู้ เรียนได้มาก เรียนได้มาก เรียนได้เร็ว มีความจำดีมาก ใช้เวลาเรียนน้อยกว่าผู้อื่น เมื่อจบวิชาแพทย์แล้ว มีความสามารถรักษาคนไข้ครั้งเดียวก็หายได้
        ในเวลาต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรด้วยโรคริดสีดวงทวาร ก็ทรงโปรดให้หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปถวายการรักษาหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ถวายการรักษาด้วยการทายาเพียงครั้งเดียว พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงหายจากโรคที่เป็น จึงโปรดให้เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์และบำรุงพระสงฆ์ นับว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล และมีผู้เคารพยกย่องมากมาย


พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 


 
 อโธคยาศาลา


 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 
กรุงสุโขทัยในอดีต
ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัย
สวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวงหรือเขาสรรพยา

                ประวัติการแพทย์แผนโบราณในประเทศไทยนั้น ได้มีการค้นพบศิลาจารึกของอาณาจักรขอมประมารปี พ.ศ. 1725-1729 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยการสร้างสถานพยาบาล เรียกว่า อโธคยาศาลา โดยมีผู้ทำหน้าที่รักษาพยาบาล ได้แก่ หมอ พยาบาล เภสัชกร รวม 92 คน มีพิธีกรรมบวงสรวงพระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ ด้วยยาและอาหารก่อนแจกจ่ายไปยังผู้ป่วย ต่อมามีการค้นพบหินบดยาสมัยทวาราวดีและศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัยได้บันทึกไว้ว่าทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวงหรือเขาสรรพยา เพื่อให้ราษฏรได้เก็บสมุนไพรไปใช้รักษาโรคยามเจ็บป่วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา


                ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ค้นพบบันทึกว่า มีระบบการจัดหายาที่ชัดเจนสำหรับราษฏร มีแหล่งจำหน่ายยาและสมุนไพรหลายแห่งทั้งในและ นอกกำแพงเมือง มีการรวบรวมตำรับยาต่างๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์โบราณ เรียกว่า “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” การแพทย์แผนโบราณมีความรุ่งเรืองมากโดยเฉพาะการนวด ในสมัยนี้การแพทย์แผนตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาท โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามาจัดตั้ง โรงพยาบาลรักษาโรค แต่ขาดความนิยมจึงได้ล้มเลิกไป

การแพทย์แผนโบราณในสมัยรัตนโกสินทร์





                รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม หรือ “วัดโพธิ์” ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ให้ชื่อว่า “วัดพระเชตุพนวิมล มังคลาราม” ทรงให้มีการรวบรวมและจารึกตำรายา ฤๅษีดัดตน ตำราการนวดไว้ตามศาลารายส่วนการจัดหายาของทางราชการมีการจัดตั้งกรมหมอและโรงพระโอสถคล้ายกับในสมัยอยุธยา แพทย์ที่รับราชการ เรียกว่า หมอหลวง ส่วนหมอที่รักษาราษฎรทั่วไป เรียกว่า ”หมอราษฎร” หรือ “หมอเชลยศักดิ์”

                รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเห็นว่าคัมภีร์แพทย์โรงพระโอสถสมัยอยุธยานั้นสูญหายไป เนื่องจากตอนนั้นมีสงครามกับพม่า 2 ครั้ง บ้านเมืองถูกทำลายและราษฎรรวมทั้งหมอแผนโบราณถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ทำให้ตำรายาและข้อมูล เกี่ยวกับการแพทย์ของไทยถูกทำลายไปด้วย จึงมีพระบรมราชโองการให้เหล่า ผู้ชำนาญโรคและสรรพคุณยา รวมทั้งผู้ที่มีตำรายานำเข้ามาถวายและให้กรมหมอหลวงคัดเลือก ให้จดเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ และในปี พ.ศ.2359 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายชื่อว่า “กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย”


               รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกครั้ง ทรงโปรดเกล้าฯให้มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ แห่งแรก คือ “โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์” 
          ในงานฉลองวัดโพธิ์สมัยนั้น ทรงดำริว่าอันตำรายาไทยและการรักษาโรคแบบอื่นๆ เช่น การบีบนวด ประคบ หมอที่มีชื่อเสียงต่างก็หวงตำราของแต่ละคนไว้เป็นความลับ ตลอดจนทรงดำริว่า การรักษาโรคทางตะวันตกกำลังแผ่อิทธิพลลงเข้ามาในประเทศสยาม และในเวลาอันใกล้น่าจะบดบังรัศมีของการแพทย์แผนโบราณเสียหมดสิ้น สุดท้ายอาจไม่มีตำรายาไทยเหลืออยู่เพื่อประโยชน์ของอนุชนรุ่นหลังก็ได้ 

                                      

          จึงทรงประกาศให้ผู้มีตำรับตำรายาโบราณทั่งหลายที่มีสรรพคุณดีและเชื่อถือได้ เท่าที่มีอยู่สมัยนั้น นำมาจารึกเป็นหลักฐานไว้บนหินอ่อน ประดับไว้บนผนังพระอุโบสถ ศาลาราย เสา และกำแพงวิหารคดรอบพระเจดีย์สี่องค์และตามศาลาต่างๆ ของวัดโพธิ์ ที่ปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้น การจารึกนี้เป็นตำราบอกสมุฏฐานของโรคและวิธีการรักษา และยังได้มีการจัดหาสมุนไพรที่ใช้ปรุงยาและหายากมาปลูกไว้ในวัดโพธิ์เป็นจำนวนมาก 

                                                


               นอกจากนั้นได้ทรงให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประสงค์จะฝึกตนเป็นแพทย์ หรือหาทางบำบัดตนได้ศึกษาเป็นสาธารณะทาน นับว่าเป็นการจัดการศึกษาให้กับประชาชนรูปแบบหนึ่ง ตำรายาเหล่านี้พอจะทราบกันดีในบรรดาหมอไทยว่า ตำรายาดีจริงๆนั้น คงไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นอนุสรณ์และเป็นโรงเรียนการแพทย์ของเมืองไทย 

หมอบรัดเลย์ แดน บิช
          รัชสมัยนี้มีการนำเอาการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาเผยแพร่โดยคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน โดยการนำของนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ ซึ่งคนไทยเรียกว่า “หมอบรัดเลย์” เช่น การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การใช้ยาเม็ดควินินรักษาโรคไข้จับสั่น เป็นต้น


               รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำการแพทย์แผนตะวันตกมาใช้มากขึ้น เช่น การสูติกรรมสมัยใหม่ แต่ไม่สามารถให้ประชาชนเปลี่ยนความนิยมได้ เพราะการรักษาพยาบาลแผนโบราณของไทย เป็นจารีตประเพณีและวัฒนธรรมสืบเนื่องกันมาและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของไทย



                รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดตั้งศิริราชพยาบาลใน พ.ศ.2431 มีการเรียนการสอนและให้การรักษาทั้งการแพทย์ทั้งแผนโบราณและ แผนตะวันตกร่วมกันหลักสูตร 3 ปี การจัดการเรียนการสอนและบริการรักษาทางการแพทย์ ทั้งแผนโบราณและแผนตะวันตกร่วมกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีการขัดแย้งระหว่างผู้สอนและผู้เรียนเป็นอย่างมาก ด้วยหลักการแนวคิด และวิธีการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน ทำให้ยากที่จะผสมผสานกันได้


พระยาพิษณุประสาทเวช
          มีการพิมพ์ตำราแพทย์สำหรับใช้ในโรงเรียนแพทย์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2438 โดยพระยาพิษณุ ชื่อตำรา “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” ได้รับยกย่องให้เป็นตำราแห่งชาติฉบับแรก ต่อมาพระยาพิษณุประสาทเวชเห็นว่า ตำราเหล่านี้ยากแก่ผู้ศึกษาจึงได้พิมพ์ตำราขึ้นใหม่ ได้แก่ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง 2 เล่ม และตำราแพทย์ศาสตร์สังเขป 3 เล่ม ซึ่งยังคงใช้เป็นตำราทางการแพทย์มาจนทุกวันนี้

                 รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการสั่งยกเลิกวิชาการแพทย์แผนโบราณ และต่อมาในปี พ.ศ. 2466 มีประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติการแพทย์เป็นการ ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับประชาชน อันเนื่องมาจากการประกอบโรคศิลปะของผู้ที่ไม่มีความรู้และมิได้ฝึกหัด ด้วยความไม่พร้อมในด้านการเรียนการสอน การสอบ และการประชาสัมพันธ์ ทำให้หมอพื้นบ้านจำนวนมากกลัวถูกจับจึงเลิกประกอบอาชีพนี้ บ้างก็เผาตำราทิ้ง

                  รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรากฎหมายเสนาบดี แบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็น “แผนปัจจุบัน” และ”แผนโบราณ” โดยกำหนดไว้ว่า

                         1. ประเภทแผนปัจจุบัน คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยความรู้จากตำราอันเป็นหลักวิชาโดยสากลนิยมซึ่งดำเนินและเจริญขึ้นโดยอาศัยการศึกษา ตรวจค้น และทดลองของผู้รู้ทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก


                         2. ประเภทแผนโบราณ คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัย ความสังเกต ความชำนาญ อันได้สืบต่อกันมาเป็นที่ตั้ง หรืออาศัยตำราอันมีมาแต่โบราณ มิได้ดำเนินไปในทางวิทยาศาสตร์

                รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในรัชสมัยนี้มีการจัดตั้งสมาคมของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ได้ก่อตั้งขึ้นที่วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2500 นับนั้นมาสมาคมต่างๆ ก็ได้แตกสาขาออกไป 



       ปัจจุบันก็มีโรงเรียนแพทย์ แผนโบราณที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด


       ใน ปี พ.ศ.2525 ได้ก่อตั้งโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ให้การอบรมศึกษา ด้านการแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์มาจนกระทั่งทุกวันนี้

จรรยาแพทย์แผนโบราณ
          คนที่เป็นหมอใช่จะมีแต่วิชาความรู้เกี่ยวกับยา และรู้จักโรคเท่านั้น ยังไม่เพียงพอ หมอควรต้องเป็นคนมีอัธยาศัยเรียบร้อย เป็นที่พอใจของคนทั้งหลายด้วย จึงจะเป็นหมอที่ดีได้ ถ้าเป็นแต่รู้วิชาของหมอแต่ไม่เป็นผู้ มีใจอารีโอบอ้อมต่อคนทั้งหลายแล้ว ก็ไม่มีใครนับถือ ย่อมทำให้ความรู้ของตนเองเสื่อมไปด้วย ไม่มีใครหาไปรักษา เพราะฉะนั้นหมอจึงต้องเป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีอันดี  เพื่อเป็นคุณธรรมประจำใจ ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ และหมอที่ดีนั้นย่อมประกอบไปด้วยคุณธรรมดังต่อไปนี้ คือ 

         1.  มีเมตตาจิตแก่คนไข้  ด้วยคนไข้อันความทุกขเวทนาครอบงำอยู่ในใจตามมากและน้อยแล้วก็มีจิตคิด หวังที่จะเอาหมอเป็นที่พึ่ง หมอไปถึงก็ดีใจอยากจะฟังคำอธิบายของหมอ ที่จะช่วยธุระชี้แจงอาการโรคของตน  ถ้าหมอนั้นเป็นผู้มีเมตตาปรานีให้คนไข้เป็นที่ชื่นชมยินดีแล้วความสุขโสมนัสก็จะบังเกิดมีแก่คนไข้ เป็นทางที่จะบรรเทาไข้ใจให้หมดหรือน้อยลงไปได้ และจะเชื่อถ้อยฟังคำของหมอผู้นั้นด้วย เมื่อความวิตกอันเป็นทุกข์ในใจเบาบางลง น้ำเลี้ยงหัวใจก็จะผ่องใส โรคที่มีอยู่ในกายก็จะพลันหายได้โดย ไม่ช้าวัน คนไข้ที่หายนั้นก็เคารพนับถือหมอนั้นต่อไปเป็นอานิสงส์อีกส่วนหนึ่งด้วย   
          แต่ถ้าหมอเป็นคนโหดเหี้ยมไม่มีเมตตาจิตแก่คนไข้แล้ว ย่อมไม่เป็นที่ยินดีของคนไข้ความวิตกก็ มีอยู่ร่ำไป นับว่าเป็นไข้บังเกิดขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เป็นเหตุที่จะให้โรคที่มีอยู่ในร่างกายนั้นกำเริบขึ้นได้ พอที่จะหายได้เร็วก็เป็นช้าวันไป หรือบางทีไข้จะทรุดหนักลง ทำให้ยากแก่การรักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นเมตตาจิตจึงเป็นคุณธรรมเกื้อกูลแก่หมอและคนไข้ด้วย ควรที่หมอจะตั้งเมตตาจิตไว้ในสันดาน นี่จัดว่าเป็นเครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง 
          
         2.  ไม่เห็นแก่ลาภ  ลาภผลที่จะได้แก่ตนนั้น ย่อมเป็นที่ปรารถนาเป็นที่ยินดีด้วยกันก็จริงแต่บุคคลที่มี อัธยาศัยอันเรียบร้อย หวังตั้งตนให้เป็นที่นับถือแห่งคนทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่เพ่งเล็งเอาด้วยอุบายหรือ กดขี่หลอกลวงเลย หมอเมื่อเขาหาไปรักษาไข้ควรตั้งใจเสียก่อน ว่าจะไปรักษาให้หายเพื่อเอาชื่อเสียง รักษาโดยสุจริต เมื่อผู้นั้นหายไข้แล้ว ขวัญข้าวค่ายาย่อมมีอยู่เอง ก็ไม่ควรจะเพิกเฉยละเมินเสีย ควรจะ ช่วยอนุเคราะห์ด้วยเมตตาจิตเป็นที่ตั้ง คุณความดีก็จะมีแก่ตน คนทั้งหลายจะเคารพนับถือ ลาภผลก็คงจะได้มา   
          แต่ถ้าหมอเป็นคนมีความโลภเห็นแก่ลาภ ไข้พอจะหายได้ในไม่ช้าวัน แกล้งหน่วงเหนี่ยวไว้ให้หายช้า หรือไข้เป็นอย่างที่ไม่น่าตกอกตกใจ ก็บอกไปเสียอย่างหนึ่งเพื่อให้เจ้าไข้ตกใจ หรือคิดอุบายแต่จะได้ ขวัญข้าว ค่ายา ค่าป่าวการให้มากด้วยประการใด ๆ ด้วยเล่ห์ประการหนึ่งว่าจะทำนาค้าขายบนหลัง คนไข้ เอามั่งมีเสียทีเดียว ไม่คิดแผ่เผื่อที่จะให้ความสุขแก่เพื่อนบ้านฐานถิ่นฉะนั้นแล้วใครเล่าจะเคารพ นับถือ เมื่อไม่มีใครนับถือแล้วลาภผลที่เคยได้ในวิชาที่เป็นหมอจะมีมาแต่ไหน มีแต่จะเสื่อมถอยน้อยลงทุกวัน เพราะฉะนั้นหมอจึงควรเป็นคนไม่เห็นแก่ลาภ ความที่ไม่เห็นแก่ลาภนั้น จัดเป็นเครื่องประดับของ หมอประการหนึ่ง 

          3.  ไม่เป็นคนโอ้อวด  ผู้ที่แสดงคำโอ้อวดให้เกินกว่าความรู้ของตน เป็นต้นว่ารักษาไข้อะไรหายสักรายหนึ่ง ก็เอาขึ้นตั้ง ไปที่ไหนก็อวดร่ำไป ความรู้จริงแก่ใจไม่รู้ถึง แต่พูดเกินกว่าความรู้ไปเจอะไข้ที่ตนพูดว่ารู้เข้า แต่รักษาไม่ได้ เขาจะเรียกว่าเป็นหมอขาดภูมิ ย่อมเป็นข้อหมิ่นประมาทของคนทั้งหลายต่อไป ไม่มีใคร เชื่อถือ เลยพาให้ความรู้ที่มีอยู่เสื่อมไปด้วย เพราะฉะนั้นในข้อนี้ควรต้องระวัง ถ้าพูดตามความที่ได้ เรียนรู้อาจจะทำได้จริง ก็ไม่นับเป็นคนโอ้อวด แต่ถึงดังนั้นต้องพูดได้ในเมื่อถึงคราวที่จะพูด ถ้าเอาไปพูด เสียร่ำไป ก็ตกอยู่ในฐานะเป็นคนโอ้อวด พาให้เสื่อมเสียความเชื่อถือได้เหมือนกัน   ที่จริงความรู้ที่มีอยู่ในตนนั้น ไม่จำเป็นต้องโอ้อวดอะไร สุดแต่ถึงคราวที่ต้องใช้ทำได้ปรากฏแก่คน ทั้งหลาย แล้วกิตติศัพท์ความเลื่องลือก็จะปรากฏขึ้นเอง ย่อมจะเป็นที่เชื่อถือยำเกรงของคนทั้งหลาย ด้วย ความไม่โอ้อวดนี้ จัดเป็นเครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง 

          4.  ไม่ปิดบังความเขลาของตนไว้  เมื่อได้ตรวจดูคนไข้ พิเคราะห์กิริยาอาการตลอดแล้วจะต้องเข้าใจว่า เป็นโรคอะไร เกิดขึ้นเพราะอะไร สามารถที่จะรักษาพยาบาลให้หายได้หรือไม่ ตกลงว่าจะรับรักษาให้ หายได้ จึงรับรักษาพยาบาลตามความรู้ความสามารถของตน ถ้าไปพบปะไข้ที่ตนไม่เคยรักษา หรือ ความรู้ของตนไม่เพียงพอที่จะรักษาได้ ก็พึงแสดงให้เจ้าไข้เขารู้เสียแต่ต้นมือเพื่อเขาจะได้ไปหาหมออื่น รักษา ถ้าจะให้ดีตนรู้ว่าใครจะรักษาได้ แนะนำบอกให้เขาด้วยก็จะเป็นที่ยินดีของเจ้าไข้ ถึงหากว่าไข้นั้น ไม่หายเพราะตนรักษาก็ดี ตนก็ย่อมจะได้ความนิยมนับถือไป ว่าเป็นคนไม่ปิดบังความเขลาไว้  รักษาไข้ด้วยความที่ไม่เข้าใจ ไข้ก็จะทรุดหนักลง ที่สุดจะถึงอันตรายแก่ชีวิตก็จะเป็นได้ เมื่อเป็น เช่นนี้หมอนั้นจะได้รับความติเตียนของคนทั้งหลาย แล้วเป็นทางที่จะเสื่อมเสียจากลาภผล เพราะฉะนั้น ความที่ไม่ปิดบังความเขลาไว้ จึงจัดเป็นเครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง 

          5.  ไม่ปิดบังความดีของผู้อื่น  เมื่อได้ยินได้ฟังเขาสรรเสริญคุณวิชาของผู้อื่น ควรทำอัธยาศัยแช่มชื่น สรรเสริญตาม เมื่อผู้นั้นชอบอัธยาศัยของเราดังนี้ ย่อมมีจิตรักใคร่จะเป็นมิตรกับเราบ้าง คุณธรรมอันนี้ ย่อมเป็นทางสืบสนธิในสามัคคีรสซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญว่าเป็นกัลยาณธรรมนำมา ซึ่งความสุขแก่ตน จึงเป็นคุณธรรมที่บุคคลควรปฏิบัติและจัดเป็นเครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง 

          6.  ไม่หวงกันลาภผู้อื่น เมื่อตนเป็นหมอไปรักษาไข้เห็นแล้วว่าลาภผลจะได้แก่ตน แต่ลำพังผู้เดียวจะทำการไม่ถนัด ที่ดีควรจะหาพวกพ้องหรือผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีความรู้มาช่วย การนั้นจึงสำเร็จได้ดี เช่นตนเป็นแต่ หมอยาจะต้องหาหมอนวดมาช่วยอีกทางหนึ่งฉะนี้ แต่ครั้นจะให้เป็นเช่นนั้นก็กลัวว่าลาภที่ตนจะได้นั้น ต้องแบ่งส่วนให้ผู้อื่นไปเสีย จะได้น้อยไปหวงกันไว้ไม่ให้ผู้อื่นเข้ามามีหุ้นส่วนนี้เป็นข้อที่จะทำอันตราย ให้แก่คนไข้ หมอไม่ควรคิดเช่นนี้เลย ถ้าเห็นทางที่จะเฉลี่ยลาภผลให้แก่ผู้ที่มีความรู้ด้วยกันด้วยประการ ใด ก็ควรจะแสดงความยินดีแผ่เผื่อให้ การที่รักษาพยาบาลไข้ ถ้ามีเพื่อนเป็นคู่คิดคู่ปรึกษาช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกันแล้ว เป็นข้อที่ป้องกันความพลั้งเผลอได้และอาจที่จะรักษาไข้ให้หายเร็วด้วย เพราะฉะนั้นการ ที่ไม่หวงกันลาภคนอื่นนั้นจึงจัดเป็นเครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง 

          7.  ไม่ลุอำนาจแก่อคติทั้ง 4 คือ ฉันทะคติ ความรักใคร่พอใจ 
โทสาคติ ความโกรธ ภยาคติ ความกลัว โมหาคติ ความหลง 

1) ฉันทาคติ ความรักใคร่พอใจนั้น คือ ทำความรักใคร่ในบุคคลไม่เสมอกัน บางคนก็ตั้งใจ รักษาพยาบาล บางคนก็เกลียดชัง ไม่รักษาโดยความตั้งใจจะให้โรคหาย   

2) โทสาคติ ความโกรธนั้น คือ ใช้แต่โทสะจิตเป็นเบื้องหน้า ไม่มีใจอันดีต่อคนไข้ ทำอะไรก็จะเอาแต่ ใจของตน ไม่ผ่อนผันตามอัธยาศัยของคนไข้ ให้มีสติอารมณ์เบิกบานบ้างเลย   

3) ภยาคติ ความกลัวนั้น คือ กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว เป็นต้นว่า รักษาไข้กลัวเขาจะไม่ให้ขวัญข้าวค่า ยาก็ไม่ตั้งใจรักษา กลัวว่ายาดีที่ทำไว้ถ้าจะให้คนไข้กินอาจจะหายได้ แต่กลัวจะหมดเสีย   

4) โมหาคติ ความหลงนั้น คือ หลงเชื่อตนมีความรู้ดี ไม่ต้องทำอัธยาศัยเผื่อแผ่เป็นมิตรไมตรีกับผู้ใด หรือหลงเชื่อว่ายาของตนดี รักษาไข้หายได้โดยไม่ตรวจอาการไข้ก่อนที่วางยา  

          อคติ 4 ประการ ที่กล่าวมานี้สำหรับหมอ ไม่เป็นสาธารณะทั่วไป หมอผู้ใดลุอำนาจแก่อคติ 4 ประการนี้แล้ว คุณความดีก็จะมีในตน จึงจัดความไม่ลุอำนาจแก่อคติทั้ง 4 ประการนี้ เป็นคุณธรรมอัน เป็นเครื่องประดับของหมอได้ประการหนึ่ง 

          8. ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม  คือ 
ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม 8 ประการ มีดังต่อไปนี้ 
1) ได้ลาภผลสักการะ             2) เสื่อมลาภผลสักการะ 
3) ได้รับความสรรเสริญ          4) ถูกความนินทา
5) ได้ยศศักดิ์                          6) เสื่อมยศศักดิ์ก็ดี 
7) ได้รับความสุข                    8) ได้รับความทุกข์

          ก็ต้องมีอัธยาศัยหนักแน่นมัธยัสถ์ เป็นปานกลาง ไม่ทำความกระวนกระวายขวนขวายยินดียินร้ายเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งเป็นเหตุจะทำลาย คุณความดีของตน และทำจิตให้พิกลไปจากความเป็นปรกติเพราะโลกธรรมนี้ย่อมยุยงส่งเสริมบุคคลให้ ตกไปในทางที่ชั่วได้ ผู้ที่ไม่หวั่นไหวแก่โลกธรรมจึงเป็นที่สรรเสริญของผู้ที่มีปัญญา จัดว่าเป็น เครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง 

          9.  มีหิริโอตตัปปะ  ละอายสะดุ้งกลัวต่อบาป อันจะเป็นเวรกรรมต่อภพชาติในภายหน้าละเว้นจากวิหิงสา พยาบาทอาฆาตจองเวรต่อบุคคลอื่น มีใจอันชุ่มชื้นไปด้วยความกรุณาเป็นเบื้องหน้า นี่จัดเป็นคุณธรรม เครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง 
         
         10. ไม่เป็นคนเกียจคร้านและมักง่าย  ตั้งใจอุตสาหะทำการรักษาพยาบาลไข้โดยเต็มกำลัง ใช้ปัญญา พินิจพิจารณาโดยถ้วนถี่ ถึงเวลาไปตรวจก็ไปตรวจฟังดูอาการ เพื่อได้คิดการรักษา ความรู้ที่มีอยู่แล้วก็ เอาใจใส่สอบสวนให้แจ่มแจ้งเจริญขึ้น สิ่งที่ยังไม่รู้ก็หมั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้ใส่ตนต่อไปมิได้เพิกเฉย และหมั่นประกอบยาไว้สำหรับรักษาไข้ ในตำราให้เอาอะไรกี่อย่างก็อุตสาหะหามาทำให้ครบกับตำรา ไม่สักแต่ว่าในตำราให้เอา 10 อย่าง ก็เอาแต่ 5 – 6 อย่างทำความมักง่าย ความจริงเครื่องยานั้นถ้าไม่ ประสมให้ครบตามตำรา ที่ท่านวางลงไว้แล้วก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ และจะลงโทษว่ายาไม่ดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นหมอจึงไม่ควรเป็นคนมักง่าย ตรวจไข้ก็ต้องตรวจโดยถี่ถ้วนเหมือนกัน ถ้าเป็นแต่มียาไม่ตรวจไข้ให้ต้อง ให้ตรงกัน นี้เป็นข้อความสำคัญ ความไม่มักง่าย จัดเป็นคุณธรรมเครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง 

          11. มีโยนิโสมนสิการ  ตริตรองในใจโดยแยบคาย จะตรวจอาการโรคก็ตรวจด้วยพินิจพิเคราะห์เหตุผลโดย รอบคอบ เมื่อจะประกอบยารักษา ก็ทำโดยความใคร่ครวญ ใช้องค์วิจารณ์ปัญญาสอดส่องให้แน่นอน แก่ใจทุกสิ่งทุกอย่าง นี่เป็นองค์อันสำคัญสำหรับวิชาแพทย์ จัดเป็นคุณธรรมเครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง 

          12. ไม่เป็นคนมีสันดานอันประกอบด้วยความมัวเมา  เป็นต้นว่า เสพย์สุรา สูบกัญชา ยาฝิ่น หรือมัวเมา ละเลิงหลงไปในการเล่นเบี้ยเล่นการพนันต่าง ๆ อันเป็นทางที่จะทำตนให้ได้ความเดือดร้อนร าคาญ เพราะความประพฤติอันเป็นข้าศึกกับคุณวิชาของตน เมื่อหลีกเลี่ยงไปพ้นมิให้พัวพัน มีสันดานตั้งมั่นในสุจริตดังนี้ จัดเป็นคุณธรรมเครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง  
           
          ฉะนั้นการที่บุคคลที่กระทำการใด ๆ ซึ่งจะมีความผิดการที่แพทย์ประพฤติปฏิบัติ โดยขาดคุณธรรมนั้น ก็ด้วยเหตุ 6 ประการ คือ 

          1. ไม่ละอายต่อความทุจริต  ไม่คิดกลัวเกรงต่อความเสียหายในการงานที่ทำนั้น ทำด้วยความโลภ ปรารถนาลาภอย่าง 1 ปรารถนาจะให้มีชื่อเสียงปรากฏในคุณความดี ก็ทำด้วยความโอ้อวดอย่าง 1 นี่เป็นบ่อเกิดของความผิดประการ 

         2. ไม่มีความรู้ในการนั้น  ก็ทำด้วยการเดาเอา จะถูกหรือผิดดีชั่วอย่างไรก็ไม่รู้ 

         3. มีความสงสัยในการงานที่ตนจะทำครอบงำอยู่แล้ว  คือคิดไม่เป็นว่าจะทำอย่างไรดี ยิ่งตรองไปก็เป็น หลายเท่าหลายทาง ล้วนเป็นอาการที่คาดคะเนโดนเดาไปเสียทุกอย่าง จะหยิบยกเอาอะไรมาเป็น หลักฐานที่อ้างอิงก็ไม่ได้ ยิ่งคิดยิ่งฟั่นเฟือนไป เพราะคิดไปไม่ตลอด ต้องถอยหลังกลับมาคิดทางอื่น ก็ไม่ ตลอดวนเวียนอยู่ ครั้นจะไต่ถามผู้รู้หรือจะปฏิเสธเสียว่าไม่รู้ ก็กลัวว่าจะเสียชื่อเสียง ทำให้เสื่อมความ เลื่อมใสในตน เมื่อการมาถึงเข้าก็ทำไปโดยความโง่เขลา การที่ทำนั้นจึงได้ผิดไป 

         4. ความสำคัญเข้าใจในสิ่งที่ไม่ควรทำ ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เช่นผู้ที่ตั้งตนเป็นหมอรักษาไข้ แต่ไม่มีความรู้ ความชำนาญพอ คนเป็นไข้พิษ มีอาการร้อนกระสับกระส่าย ทางที่ถูกควรใช้ยาสำหรับดับพิษไข้ เขา ห้ามไม่ให้อาบน้ำ ในเวลากำลังไข้มีพิษ ให้กระสับกระส่าย เข้าใจเสียว่าอาบน้ำให้เย็นจะได้หาย ก็เอาน้ำอาบให้คนไข้ จนพิษไข้หลบเข้าภายใน เป็นเหตุจะตัดรอนชีวิตคนไข้เสีย หรืออีกนัยหนึ่ง คนไข้เป็นโรค อุจจาระธาตุพิการ ควรจะให้ยาคุมธาตุบ ารุงธาตุ แต่ไม่ใช่ กลับใช้ยาถ่ายที่แรงๆ เช่น ยาที่เข้าสลอด มากๆ ด้วยเห็นไปว่าให้อุจาระที่เสียออกให้หมดก็แล้วกัน เมื่อทำดังนี้โรคนั้นจะกลายเป็นอติสาร ก็จะถึงแก่ความตายไป นี่แหละเป็นความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรทำ


          5.  ความสำคัญเข้าใจในสิ่งที่ควรทำว่าเป็นสิ่งไม่ควรทำ  แล้วกระทำ ลงไป ดังนัยแสดงตามข้อ 4. 

          6. ทำการด้วยความขาดสติ  ไม่ตริตรองสอบหาเหตุผลให้รอบคอบ ไม่ใช้ปัญญาอันประกอบด้วย คือไม่ใช้ปัญญาอันประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ คือ ทำการไม่มีสติ เลินเล่อ อันเป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดได้ประการหนี่ง 

         ความผิดเพราะขาดคุณธรรม 6 ย่อได้ดังนี้
1. ไม่ละอาย 
2. ไม่รู้จริง
3. สงสัยแล้วขืนทำ
4. ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ 
5. ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ
6. ทำไปโดยขาดสติ

        สรุปความผิดของแพทย์ประพฤติปฏิบัติขาดคุณธรรม เกิดจากความประมาท ไม่ละอาย และโง่เขลา คือ ไม่รู้จริง นั่นเอง


จรรยาเภสัช

          ผู้ที่จะเป็นเภสัชกรนอกจากจะต้องศึกษาถึงหลักเภสัชกรรมแล้ว ยังจะต้องมีคุณธรรม คือ ต้องมีจรรยาที่ดีงาม ซึ่งจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ประพฤติดี ปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรและชอบธรรมเป็นทางนำความสุขความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตน จรรยาเภสัช 5 ประการ มีดังนี้

          1. ต้องมีความขยันหมั่นเพียร หมั่นเอาใจใส่ศึกษาวิชาการแพทย์เพิ่มเติม ให้เหมาะแก่กาลสมัยอยู่เสมอ โดยไม่เกียจคร้าน

          2. ต้องพิจาณาหาเหตุผลในการปฏิบัติงานด้วยความสะอาด ประณีต ไม่ประมาท ไม่มักง่าย 

          3. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และมีเมตตาจิตแก่ผู้ใช้ยา ไม่โลภเห็นแก่ลาภ โดยหวังผลกำไรมากเกินควร 

          4. ต้องละอายต่อบาป ไม่กล่าวเท็จหรือกล่าวโอ้อวด ให้ผู้อื่นหลงเชื่อในความรู้ ความสามารถอันเหลวไหลของตน 

          5. ต้องปรึกษาผู้ชำนาญ เมื่อเกิดการสงสัยในตัวยาชนิดใด หรือวิธีปรุงยาโดยไม่ปิดบังความเขลาของตน 

           ความสำคัญของจรรยาเภสัชนี้ เพื่อให้ผู้เป็นเภสัชกรระลึกอยู่เสมอว่าการปรุงยา หรือผสมยา หรือการประดิษฐ์วัตถุใดๆ ขึ้น เป็นยาสำหรับมนุษย์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์ จะต้องมีความสะอาด ประณีต รอบคอบ นึกถึงอยู่เสมอว่าเป็นสิ่งที่บำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่อชีวิตมนุษย์ มิใช่เป็นยาทำลายชีวิตมนุษย์ ฉะนั้น เภสัชกรจึงต้องมีจิตใจบริสุทธิ์ยึดหลักจรรยาเภสัชเปรียบเหมือนศีล 5 เป็นข้อยึดเหนี่ยวหรือเป็นกฎข้อบังคับเตือนใจเตือนสติให้ผู้ปฏิบัติไปในทางที่ถูกที่ควรเป็นทางนำไปสู่คุณงามความดี และนำความเจริญก้าวหน้าแห่งวิชาชีพสืบต่อไปชั่วกาลนาน


หลักเภสัช 4
          การศึกษาวิชาเภสัชกรรมแผนโบราณ จำเป็นต้องรู้หลักสำคัญของการศึกษาวิชานี้ เพื่อได้จดจำง่ายได้จัดไว้เป็นหลักฐานใหญ่ๆ ที่เรียกว่า “หลักเภสัช” โดยจำแนกออกเป็น 4 บท เพราะผู้ที่จะเป็นเภสัชกรแผนโบราณจำเป็นต้องรู้หลักใหญ่ 4 ประการนี้ก่อน คือ 
          1. เภสัชวัตถุ คือ รู้จักวัตถุธาตุนานาชนิดที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคและรักษาไข้ จะต้องรู้ลักษณะพื้นฐานของตัวยาหรือสมุนไพรแต่ละชนิด คือ ต้องรู้จัก ชื่อ ลักษณะ สี กลิ่น และรส
          2. สรรพคุณเภสัช คือ รู้จักสรรพคุณของวัตถุนานาชนิดที่จะนำมาใช้เป็นยา จะต้องรู้รสของตัวยานั้นๆ ก่อนจึงสามารถทราบสรรพคุณได้ภายหลัง
          3. คณาเภสัช คือ รู้จักการจัดหมวดหมู่ตัวยาหลายสิ่งหลายอย่าง รวมเรียกเป็นชื่อเดียว
          4. เภสัชกรรม คือ รู้จักการปรุงยา ผสมเครื่องยาหรือตัวยา ตามที่กำหนดในตำรับยา หรือตามใบสั่ง

ประวัติเบญจกูล

          เบญจกูล หรือ พิกัดเบญจกูล เป็นพิกัดยาที่ใช้กันมากในตำรับยาไทย เพราะว่าใช้ประจำในธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายของคนเรา ทั้งยังใช้แก้ในกองฤดู กองสมุฏฐานต่างๆอีกด้วย

           พระอาจารย์ท่านได้กล่าวสืบต่อกันมาว่ามีฤๅษี 6 ตน ซึ่งแต่ละคนได้ค้นคว้าตัวยา โดยบังเอิญตัวแต่ละอย่างนั้นมีสรรพคุณรักษาโรค และสมุฏฐานต่างๆได้ ซึ่งมีประวัติดังนี้

            ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “ปัพพะตัง” บริโภคซึ่งผลดีปลี เชื่อว่า อาจจะระงับอชิณโรคได้ (แพ้ของแสลง)

            ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “อุธา” บริโภคซึ่งรากช้าพลู เชื่อว่า อาจจะระงับซึ่งเมื่อยขบได้

            ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “บุพเทวา” บริโภคซึ่งเถาสะค้าน เชื่อว่า อาจระงับเสมหะและวาโยได้

            ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “บุพพรต” บริโภคซึ่งรากเจตมูลเพลิง เชื่อว่า อาจจะระงับโรคอันบังเกิดแต่ดีอันให้หนาวและเย็นได้

            ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “มหิทธิธรรม” บริโภคซึ่งเหง้าขิง เชื่อว่า อาจระงับตรีโทษได้

            ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “มุรทาธร” เป็นผู้ประมวลสรรพยาทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน ให้ชื่อว่า เบญจกูลเสมอภาค เชื่อว่า ยาเบญจกูล นี้ อาจระงับโรคอันบังเกิดแก่ ทวัตติงสาการ คือ อาการ 32 ของร่างกายมีผมเป็นต้นและมันสมองเป็นที่สุด และบำรุงธาตุทั้ง 4 ให้บริบูรณ์

ตัวยาแต่ละตัวในเบญจกูล ใช้เป็นยาประจำธาตุได้ดังนี้
  1. ดอกดีปลี             ประจำ ธาตุดิน                 (ปถวีธาตุ) 
  2. รากช้าพลู           ประจำ ธาตุน้ำ                  (อาโปธาตุ) 
  3. เถาสะค้าน           ประจำ ธาตุลม                 (วาโยธาตุ)
  4. รากเจตมูลเพลิง ประจำ ธาตุไฟ                 (เตโชธาตุ) 
  5. เหง้าขิง                ประจำ ทวารของร่างกาย (อากาศธาตุ) 
-------------------------------------------------------------

เภสัชกรรมไทย เภสัชวัตถุ ประเภทพืชวัตถุ จำพวกต้น 

(กรรณิกา-คางแดง) 1

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/blog-post_53.html

เภสัชกรรมไทย เภสัชวัตถุ ประเภทพืชวัตถุ จำพวกต้น 

(กรรณิกา-คางแดง) 2

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/blog-post.html


เภสัชกรรมไทย เภสัชวัตถุ ประเภทพืชวัตถุ จำพวกต้น (ควินิน-ทำมัง)

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/2.html


เภสัชกรรมไทย เภสัชวัตถุ ประเภทพืชวัตถุ จำพวกต้น (ยาดำ-เอื้องบก)

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/4.html

เภสัชกรรมไทย เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ จำพวกเถา-เครือ (กรด-เถาวัลย์ปูน)

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/blog-post_47.html

เภสัชกรรมไทย เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ จำพวกเถา-เครือ 

(เถาวัลย์เปรียง-อุโลกเครือ)

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/2_23.html

เภสัชกรรมไทย เภสัชวัตถุ ประเภทพืชวัตถุ จำพวกหัว-เหง้า

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/blog-post_3076.html

เภสัชกรรมไทย เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ จำพวกผัก-หญ้า-ว่าน-เห็ด

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/blog-post_7037.html

เภสัชกรรมไทย และเวชกรรมไทย เล่ม 2 บทที่ 9 เภสัชกรรม

จำพวกสัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุ

https://poovaratsuchart.blogspot.com/2020/05/2-9.html

 

ภสัชกรรมไทย ตัวยาเรียกได้หลายชื่อ-ตัวยาสรรพคุณใกล้เคียงกัน-

การเก็บตัวยา-ตัวยาประจำธาตุ-รสยาแก้ตามธาตุ

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/blog-post_22.html

 

เภสัชกรรมไทย สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน 

(กระเทียม-ชุมเห็ดเทศ)

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/blog-post_6472.html

เภสัชกรรมไทย สมุนไพรที่เป็นพืชเศรษฐกิจ 

และสีผสมอาหารจากธรรมชาติ

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/blog-post_25.html

เภสัชกรรมไทย สรรพคุณเภสัช-รสยาแก้ตามธาตุ-

รสแก้ตามวัย-รสแก้ตามฤดู-รสแก้ตามกาล

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/blog-post_34.html

เภสัชกรรมไทย คณาเภสัช (จุลพิกัด - พิกัด 4 สิ่ง)

https://thaitraditionalmedicinebook.blogspot.com/2014/01/1.html

สมุนไพรแห้ง ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/09/blog-post_25.html

สมุนไพรสด ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/04/thai-traditional-medicine.html

ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/03/blog-post.html

-------------------------------------------------------------

อ้างอิง:ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรม และเภสัชกรรม
กองการประกอบโรคศิลปะ



Credit:  ภาพนำมาจาก internet ซึ่ง share กันใน Google,  Face Book และได้ถ่ายทำเองบ้าง เพื่อการศึกษาแพทย์แผนไทยให้ง่ายขึ้น เป็นการสืบทอดต่อไปยังอนุชน และผู้สนใจ ให้มีความรู้ในการรักษาบำบัดโรคพึ่งพาตนเองได้ ขอขอบคุณเจ้าของภาพ ขอให้อนุโมทนาส่วนบุญกุศล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขัง พลัง และสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงามโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ




No comments:

Post a Comment