Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อกนี้ / เว็บ

Wednesday, January 22, 2014

เภสัชกรรมไทย สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน (กระเทียม-ชุมเห็ดเทศ)

เภสัชกรรมไทย
สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน 
(กระเทียม-ชุมเห็ดเทศ)



จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม


เภสัชกรรมไทย
สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน
(กระเทียม-ชุมเห็ดเทศ)

              กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสมุนไพร โดยมีการร่างเป็นนโยบายไว้เป็นแผนพัฒนาการสาธารณสุข ฉบับที่ 6 เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขในระดับต่างๆ รวมถึงหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนโบราณ ได้มีความรู้เรื่องสมุนไพรขั้นพื้นฐานเพื่อให้มีหลักในการศึกษาและเรียนรู้อย่างถูกต้อง ให้เข้าใจถึงประโยชน์ และข้อจำกัดของสมุนไพรต่างๆ สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานมีดังนี้

กระเทียม


กระเทียม

ชื่อท้องถิ่น หอมเทียม (เหนือ), กระเทียม หัวเทียม (ภาคใต้), กระเทียมขาว (อุดรธานี),หอมขาว(อุดรธานี), กระเทียม (กลาง), ปะเซวา (กะเหรี่ยง  แม่ฮ่องสอน) 

ลักษณะของพืช พืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า หัว หัวมีกลีบย่อยหลายกลีบ ติดกันแน่น เนื้อสีขาว มีกลิ่นฉุนเฉพาะ บางครั้งในหนึ่งหัวมีกลีบเดียว เรียก กระเทียมโทน หัวค่อนข้างกลม ใบยาวแบน ปลายแหลม ภายในกลวง ดอกรวมกันเป็นกระจุกที่ปลายช่อ ดอกสีขาวอมเขียม หรือชมพูอมม่วง ผลมีขนาดเล็ก 

ส่วนที่ใช้เป็นยา หัวใต้ดิน 

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บในช่วงที่หัวแก่ อายุ 100 วันขึ้นไป 

รส และสรรพ
คุณยาไทย รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้กลากเกลื้อน แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร 

วิธีใช้ กระเทียมใช้เป็นยารักษาอาการดังนี้ 

1. อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด ใช้กลีบปอกเปลือก รับประทานดิบๆ ครั้งละประมาณ 5 – 7 กลีบ (หนัก 5 กรัม) หลังอาหาร หรือเวลามีอาการ 

2. อาการกลาก เกลื้อน ฝานกลีบกระเทียมแล้วนำมาถูกบ่อยๆ หรือตำคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นโดยใช้ไม้เล็กๆ ขูดบริเวณที่เป็น พอให้ผิวแดงๆ ก่อน แล้วจึงเอากระเทียมทาบ่อยๆ หรือวันละ 2 ครั้ง เช้า  เย็น

-------------------------------------------------------------

กระวานไทย





กระวานไทย

ชื่อท้องถิ่น กระวานโพธิสัตว์ กระวานจันทร์ (กลาง) กระวานดำ
กระวานแดง กระวานขาว (กลาง, ตะวันออก)

ชื่อสามัญ Camphor seed Siam cadamom
ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum krervanh Pierre.

ลักษณะของพืช เป็นไม้ล้มลุกมีลำต้นใต้ดิน (เหง้า) ส่วนที่อยู่เหนือดินสูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ไม่มีก้านใบ ดอกเป็นช่อแทงจากเหง้า กลีบดอกสีขาวปนเหลือง ผลกลม เมื่อแก่ผลจะแห้ง และเล็ก ปลูกโดยการแยกหน่อ ขึ้นในดินแทบทุกชนิด เจริญได้ดีที่ชุ่มชื้น และเย็น โดยเฉพาะใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ยังพบได้ในป่าที่มีความชื้นสูงทางภาคใต้ของประเทศไทย เวลาปลูกจะแยกหน่อออกจากต้นแม่ ถ้ามีลำต้นติดมาให้ตัดเหลือประมาณ 1 คืบ เพื่อลดการสูญเสียน้ำ นำหน่อไปชำในที่ชุ่มชื้น หรือจะนำลงปลูกเลยก็ได้ ดูแลความชื้นให้สม่ำเสมอ กระวานเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจเพราะกระวานเป็นได้ทั้งเครื่องเทศและสมุนไพร ลูกกระวานทำรายได้ให้กับประเทศในปี พ.ศ. 2527 ส่งออกประมาณ 22.1 ตัน (มูลค่า 7 ล้านบาท) ส่งไปขายประเทศอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น แหล่งปลูกอยู่จังหวัดยะลา และจันทบุรี

ส่วนที่ใช้เป็นยา เมล็ดแก่แห้ง 

ช่วงเวลาที่เก็บยา ตั้งแต่เริ่มปลูกจนมีอายุ 4 – 5 ปี จึงจะเริ่มเก็บผลได้ เมล็ดแก่เก็บในช่วงเดือนสิงหาคม  เดือนมีนาคม 

รส และสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม เป็นยาขับลม และเสมหะ 

วิธีใช้ 

1. ผลกระวานแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด โดยเอาเมล็ดแก่จัดตากแห้ง และบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1 ช้อนครึ่ง - 3 ช้อนชา (หนัก 1 - 2 กรัม) ชงกับน้ำอุ่น 

2. 
ผลกระวานยังใช้ผสมกับยาถ่าย เช่น มะขามแขก เพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง 

----------------------------------------------------------

กระเจี๊ยบแดง



กระเจี๊ยบแดง

ชื่อท้องถิ่น กระเจี๊ยบ, กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง), ผักเก็งเค้ง, ส้มเก็งเค็ง (ภาคเหนือ), ส้มตะเลงเคลง (ตาก), ส้มปู (เงี้ยว  แม่ฮ่องสอน) 


ลักษณะของพืช  กระเจี๊ยบเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 3 – 6 ศอก ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบมีหลายแบบขอบใบเรียบ บางครั้งมีหยักเว้า 3 หยัก ดอกสีชมพู ตรงกลางจะมีสีเข้มกว่าส่วนนอกของกลีบ เมื่อกลีบดอกร่วงโรยไป กลีบรองดอก และกลีบเลี้ยงจะเจริญขึ้น มีสีม่วงแดงเข้มหุ้มเมล็ดไว้ภายใน 

ส่วนที่ใช้เป็นยา กลีบเลี้ยง และกลีบรองดอก 

ช่วงเวลาที่เก็บยา ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวใช้เวลา 4 – 4 เดือนครึ่ง 

รส และสรรพคุณยาไทย กลีบรองดอก กลับเลี้ยงและใบ มีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยากัดเสมหะ 

วิธีใช้ ใช้เป็นยารักษาอาการขัดเบา โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาจะหายไป

-----------------------------------------------------------

กะทือ



กะทือ

ชื่อท้องถิ่น กะทือป่า, กะแวน, แฮวดำ (ภาคเหนือ), เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน) 
ลักษณะของพืช กะทือเป็นพืชที่พบได้ตามบ้านในชนบท เป็นพืชล้มลุก ฤดูแล้งจะลงหัว เมื่อถึงฤดูฝน จะงอกใหม่หัวมีขนาดใหญ่ และมีเนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ต้นสูง 3 – 6 ศอก ใบเรียวยาว ออกตรงข้ามกัน ดอกเป็นช่อกลม อัดกันแน่นสีแดง และแทรกด้วยดอกสีเหลืองเล็กๆ 

ส่วนที่ใช้เป็นยา หัวหรือเหง้าแก่สด 

ช่วงเวลาที่เก็บยา ช่วงฤดูแล้ง 

รส และสรรพคุณยาไทย รสขม และขื่นเล็กน้อย ขับลม 
แก้ปวดมวนแน่นท้อง แก้บิด บำรุงน้ำนม 

วิธีใช้ หัวกะทือเป็นยารักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง โดยใช้หัวหรือเหง้าสดขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัว (ประมาณ 20 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใสคั้นเอาน้ำดื่มเวลามีอาการ 

------------------------------------------------------------

กระชาย

 

กระชาย
ชื่อท้องถิ่น กะแอน, ระแอน (ภาคเหนือ), ขิงทราย (มหาสารคาม), ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ), จี๊ปู, ชีฟู (ฉาน  แม่ฮ่องสอน), เป๊าซอเร้าะ, เป๊าะสี่ (กะเหรี่ยง  แม่ฮ่องสอน) 

ลักษณะของพืช กระชายเป็นไม้ล้มลุก สูงราว 1 – 2 ศอก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า  เหง้า  รูปทรงกระบอกปลายแหลมจำนวนมาก รวมติดอยู่เป็นกระจุก เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะ เนื้อในละเอียดกาบใบสีแดงเรื่อ ใบใหญ่ยาวรีปลายแหลม ดอกเป็นช่อ สีขาวอมชมพู 

ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าใต้ดิน 

รส และสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อนขม แก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ และบำรุงกำลัง 

วิธีใช้ เหง้ากระชายรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด โดยนำเหง้า และรากประมาณครึ่งกำมือ (สดหนัก 5 – 10 กรัม แห้งหนัก 3 – 5 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มเวลา มีอาการ หรือปรุงเป็นอาหารรับประทาน 

-------------------------------------------------------------
กะเพรา



กะเพรา
ชื่อท้องถิ่น กะเพราขาว, กะเพราแดง (กลาง), กอมก้อ (เหนือ) 

ชื่อวิทยาศาสตร์Ocimum tenuiflorum

ลักษณะของพืช เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก โคนต้นที่แก่เป็นไม้ที่เนื้อแข็ง ลำต้น และใบมีขนอ่อน ใยมีกลิ่นหอมฉุนรูปร่างรี ปลายใบและโคนใบแหลมหรือมนเล็กน้อย ขอบใบหยัก ดอกออกเป็นช่อ ดอกย่อยออกรอบแกนกลางเป็นชั้นๆ กะเพราปลูกเป็นพืชสวนครัวมีอยู่ทั่วไป มีกะเพราขาว และกะเพราะแดง กะเพราะขาวมีส่วนต่างๆเป็นสีเขียว ส่วนกะเพราแดงจะมีส่วนต่างๆ เป็นสีเขียวอมม่วงแดง 

ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบสดหรือแห้ง 

ช่วงเวลาที่เก็บยา เก็บใบสมบูรณ์เต็มที่ ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป 

รส และสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อน เป็นยาตั้งธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น จุกเสียดในท้อง ใช้แต่งกลิ่นแต่งรสได้ 

วิธีใช้ ใบกะเพราแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง โดยใช้ใบ และยอดกะเพรา 1 กำมือ (ถ้าสดหนัก 25 กรัม แห้งหนัก 4 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มเหมาะสำหรับเด็กท้องอืด หรือนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานแก้ท้องอืดก็ได้ จำนวนยา และวิธีใช้แบบเดียวกันนี้ ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติได้
-------------------------------------------------------------

กล้วยน้ำว้า


กล้วยน้ำว้ำ

ชื่อท้องถิ่น กล้วยใต้ (ภาคเหนือ) 

ชื่อวิทยาศาสตร์Musa acuminata × Musa balbisiana 'Pisang Awak

ลักษณะของพืช พืชล้มลุก ลำต้นสูง ลำต้นที่อยู่เหนือดินรูปร่างกลม มีกาบใบหุ้มซ้อนกัน ใบสีเขียวขนาดใหญ่ ก้านใบยาวและเห็นได้ชัดเจน ดอกออกที่ปลายเป็นช่อ ลักษณะห้อยลงยาว 1 – 2 ศอก เรียกว่า ปลี มีดอกย่อยออกเป็นแผง ผลจะติดกันเป็นแผงเรียกว่า หวี ซ้อนกันหลายหวีเรียกว่า เครือ 

ส่วนที่ใช้เป็นยา ลูกดิบ หรือ ลูกห่าม 

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บลูกกล้วยช่วงเปลือกยังเป็นสีเขียว ต้นกล้วยจะให้ผลในช่วงอายุ 8 – 12 เดือน 

รส และสรรพคุณยาไทย ลูกดิบ รสฝาด ฤทธิ์ฝาดสมาน 

วิธีใช้ กล้วยดิบรักษาอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรง โดยใช้กล้วยน้ำว้าห่ามรับประทานครั้งละครึ่งผลถึงหนึ่งผล หรือใช้กล้วยน้ำว้าดิบฝานเป็นแว่นตากแดดให้แห้ง บดเป็นผง ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งผลถึงหนึ่งผลหรือบดเป็นผง ปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอนรับประทานแล้วแล้วอาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ ป้องกันได้โดยใช้ร่วมกับยาขับลม เช่น น้ำขิง พริกไทย เป็นต้น

-----------------------------------------------------------

กานพลู



กานพลู 

ชื่อท้องถิ่น จันจี่ (ภาคเหนือ)


ลักษณะของพืช กานพลูเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบหนาเป็นมัน ถ้าเอาใบส่องแดดดู จะเห็นจุดน้ำมันอยู่ทั่วไปออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ดอกสีแดงอมชมพู

ส่วนที่ใช้เป็นยา ดอกกานพลูแห้งที่ยังมิได้สกัดเอาน้ำมันออก และมีกลิ่นหอมจัด

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บดอกตูมช่วงที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง ช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

รส และสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ช่วยขับลม

วิธีใช้ 

1. ดอกแห้งของกานพลูรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด โดยใช้ดอกแห้ง 5 – 8 ดอก (0.12 – 0.6 กรัม) ต้มน้ำดื่ม หรือบดเป็นผง ชงเป็นน้ำชาดื่ม

2. ดอกกานพลูยังช่วยป้องกันไม่ให้เด็กอ่อนท้องขึ้น ท้องเฟ้อได้ โดนใช้ดอกแห้ง 1-3 ดอก  แช่ไว้ในกระติกน้ำร้อนที่ใช้ชงนมให้เด็กอ่อน

----------------------------------------------------------

แก้ว




แก้ว 

ชื่อท้องถิ่น แก้มขาว (กลาง) ตะไหลแก้ว แก้วพริก จ๊าพริก (เหนือ) แก้วขี้ไก่ (ยะลา)

ชื่อสามัญ China box tree Orange jasmine
ชื่อวิทยาศาสตร์  Murraya paniculata Jack.

ลักษณะของพืช  เป็นไม้พุ่มถึงไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เปลือกต้น สีน้ำตาลปนเหลืออ่อนติดกับลำต้นแบบสลับกันแต่ละใบประกอบด้วย ใบย่อย3-5 ใบ มีรูปคล้ายรูปไข่ ค่อน ข้างยาว ใบมีกลิ่นหอม เมื่อส่องดูกับแสงแดดจะเห็นจุดต่อมน้ำมันบนใบ ใบมีสีเขียวและเป็นมัน ดอกสีขาว กลิ่นหอม ออกเป็นช่อ ผลค่อนข้างกลม เมื่อสุกมีสีแดงหรือส้มแก่

ส่วนที่ใช้ ใบสด 

ช่วงเวลาที่เก็บ ใบสด ที่สมบูรณ์เต็มที่

รส เผ็ดร้อนขมสุขุม ขยี้ใบดม มีกลิ่นหอม

สรรพคุณ ใช้เป็นยาขับระดู และยาแก้จุกเสียด แน่นท้อง บำรุงธาตุ และแก้ปวดฟัน

วิธีใช้  แก้ปวดฟัน ใช้ใบสดตำพอแหลกแช่เหล้าโรง อัตราส่วน 15 ใบย่อย ( หนัก 1 กรัม) ต่อเหล้าโรง 1 ช้อนชา ( 5 มิลลิลิตร) แล้วเอายาทาบริเวณที่ปวด
---------------------------------------------------------
ข่า



ข่า

ชื่อท้องถิ่น ข่าตาแดง ข่าหยวก (ภาคเหนือ)


ลักษณะของพืช ข่ามีลำต้นที่อยู่ใต้ดิน เรียกว่า “เหง้า” เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน เนื้อในสีเหลือง และมีกลิ่นหอมเฉพาะลำต้นที่อยู่เหนือดินสูงได้ถึง 6 เมตร ใบสีเขียวออกสลับข้างกัน รูปร่างรียาว ปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อที่ยอดดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีขาวนวล ด้านในของกลีบดอกมีประสีแดงอยู่ด้านหนึ่ง ผลเปลือกแข็งรูปร่างกลมรี

ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าแก่ สด หรือแห้ง

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ช่วงเวลาที่เหง้าแก่

รส และสรรพคุณยาไทย
เหง้าข่า รสเผ็ดปร่า ขับลมแก้บวมฟกซ้ำ

วิธีใช้ เหง้าข่าใช้เป็นยารักษาโรคดังนี้

1. อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด ทำได้โดยใช้เหง้าแก่สดหรือแห้ง ขยาดเท่าหัวแม่มือ (สดหนัก 5 กรัม แห้งหนัก 2กรัม) ต้มน้ำดื่ม

2. โรคกลากเกลื้อน เอาหัวข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาด ฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบให้แตกนำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้ 1 คืน ทำความสะอาดบริเวณที่เป็นและใช้ไม้บางๆ ขูดให้เป็นผิวสีแดงๆ และใช้น้ำยาที่ได้มาทาบริเวณที่เป็น ทา 2 ครั้ง เช้า - เย็นทุกวัน จนกว่าจะหายาก
--------------------------------------------------------------

ขิง


ขิง

ชื่อท้องถิ่น ขิงเผือก (เชียงใหม่)ขิงแคลงขิงแดง (จันทบุรี)สะเอ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)

ชื่อวิทยาศาสตร์Zingiber officinale

ลักษณะของพืช ขิงเป็นพืชล้มลุกมีแง่งใต้ดิน แง่งจะแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว ลำต้นที่อยู่เหนือต้นงอกจากแง่งตั้งตรงยาวราว 2 – 3 ศอก ใบสีเขียว เรียวแคบ ปลายใบแหลม ดอกเป็นช่องขนากเล็กก้านดอกสั้น ดอกสีเหลือง และจะบานจากโคนไปหาส่วนปลาย

ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าแก่สด

ช่วงเวลาที่เป็นยา เก็บเกี่ยวในช่วงอายุ 11 – 12 เดือน

รส และสรรพคุณยาไทย รสหวานเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน

วิธีใช้ เหง้าขิงใช้เป็นยารักษาอาการต่างๆ ดังนี้

1. อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และอาการคลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากธาตุไม่ปกติ เมารถ เมาเรือ โดยใช้เหง้าแก่สดขยาดเท่าหัวแม่มืด (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม

2. อาการไอ มีเสมหะ ฝนกับน้ำมะนาว หรือใช้เหง้าสดตำผสมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำ และแทรกเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ 

------------------------------------------------------------

ขลู่




ขลู่

ชื่อท้องถิ่น หนวดงิ้วหนาดงัวหนาดวัว (อุดรธานี)ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน)คลู (ใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์Pluchea indica

ลักษณะของพืช ขลู่เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ยอด และใบสีเขียวอ่อน ใบกลมมน ปลายใบหยัก ดอกออกเป็นช่อประกอบด้วยดิกเล็กๆ สีขาวอมม่วง

ส่วนที่ใช้เป็นยา ใช้ทั้งห้า ทั้งสด และแห้ง (นิยมใช้เฉพาะใบ)

รส และสรรพคุณยาไทย ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ

วิธีใช้ ใช้เป็นยาแก้อาการขัดเบา วันละ 1 กำมือ (สดหนัก 40 – 50 กรัม แห้งหนัก 15 – 20 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่ม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (หรือ 75 มิลลิลิตร)

---------------------------------------------------------

ขมิ้นชัน







ขมิ้นชัน


ชื่อท้องถิ่น ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) 
ขี้มิ้น หมิ้น (ใต้)

ชื่อสามัญ Turmeric
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa L.

ลักษณะของพืช ขมิ้นเป็นพืชล้มลุก ต้นสูงประมาณ 50-70 ซม. มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้ามีสีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดเข้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะ ใบรูปเรียวยาวปลายแหลม คล้ายใบพุทธรักษา มีก้านช่อแทงจากเหง้าโดยตรง ดอกมีสีขาวอมเหลือง มีกลีบประดับตอนล่างสีเขียว ตอนบนสีขาวอมเขียวอ่อน

ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าสด และแห้ง

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เมื่อปลูกได้ 7 เดือน ใบขมิ้นจะเริ่มมีสีเหลือง แสดงว่าหัวขมิ้นเริ่มแก่ ปล่อยขมิ้นไว้ในแปลงจนอายุ 9-10 เดือน จึงขุดมาใช้ได้


รส และสรรพคุณยาไทย รสฝาด กลิ่นหอม สรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ขับลม แก้ท้องร่วง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร (ฉบับปรับปรุงใหม่)

วิธีใช้ เหง้าขมิ้นใช้เป็นยารักษาอาการดังนี้

1. อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และอาหารไม่ย่อย โดยล้างขมิ้นให้สะอาด (ไม่ต้องปอกเปลือก) หั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดจัดสัก 1 – 2 วัน บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเมล็ดขนาดปลายนิ้วก้อย เก็บในขวดสะอาด กินครั้งละ 2 – 3 เม็ด วันละ 3 – 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน บางคนกินขมิ้นแล้วท้องเสีย ให้หยุดยาทันที

2. ฝี แผลพุพอง และแก้อาการแพ้อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย 
โดยเอาเหง้ายาวประมาณ 2 นิ้ว ฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่เป็น วันละครั้ง หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้

วิธีใช้ ใช้เหง้าขมิ้นยาวประมาณ 2 นิ้ว ฝนกับน้ำต้มสุกทา หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการแพ้คัน หรืออักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย
(ฉบับปรับปรุงใหม่)
---------------------------------------------------------

ขี้เหล็ก



ขี้เหล็ก
ชื่อในท้องถิ่น ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) , ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง)
ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) , ผักจี้ลี้ (เงี้ยว – แม่ฮ่องสอน) , ยะหา(ปัตตานี) , ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้)


ลักษณะของพืช ขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางใบเป็นใบประกอบ ประกอบด้วยใบย่อยประมาณ 10 คู่ใบเรียวปลายใบมนหยักเว้าหาเส้นกลางใบเล็กน้อย โคนใบกลมสีเขียว ใต้ใบซีดกว่าด้านบนใบ และมีขนเล็กน้อยดอกเป็นช่อสีเหลือง ฝักแบนหนา มีเมล็ดอยู่ข้างใน

ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบอ่อน และดอก

รส และสรรพคุณยาไทย ดอกตูมและใบอ่อน รสขม ช่วยระบายท้อง ดอกตูมทำให้ นอนหลับ เจริญอาหาร

วิธีใช้ ขี้เหล็กใช้เป็นยารักษาอาหารท้องผูก และอาการนอนไม่หลับ ทำได้ดังนี้

1. อาการท้องผูก ใช้ใบขี้เหล็ก (ทั้งใยอ่อน และใบแก่) 4 – 5 กำมือ ต้มเอาน้ำดื่มก่อนอาหารหรือเวลามีอาการ

2. อาการนอนไม่หลับ กังวลเบื่ออาหาร ให้ใช้ใบแห้งหนัก 30 กรัม หรือใช้ใบสดหนัก 50 กรัม ต้มเอาน้ำรับประทานก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า (ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ไว้ 7 วัน คนทุกวันให้ น้ำยาสม่ำเสมอ กรองกากยาออก จะได้ยาดองเหล้าขี้เหล็ก) ดื่มครั้งละ 1 – 2 ช้อนชาก่อนนอน

-------------------------------------------------------------

ข่อย







ข่อย

ชื่อท้องถิ่น กักไม้ฝอย (เหนือ), สะนาย (เขมร), ส้มพอ (เลย), ส้มพล (เลย-อิสาน),  
ข่อย,  ส้มฝ่อ, ส้มพ่อ, ส้มผ่อ 
(หนองคาย-อิสาน),
ขรอย, ขันตา, ขอย (ใต้),  ตองขะแน่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)

ชื่อสามัญ Tooth brush tree
ชื่อวิทยาศาสตร์  Streblus asper Lour.


ลักษณะของพืช เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบเล็กหนาและแข็ง ขอบใบหยัก จับใบรู้สึกสากมือ ดอกตัวผู้รวมกันเป็นช่อดอกแบบหัวกลม ก้านดอกสั้นมีสีเหลืองอมเขียว เกือบขาว ส่วนดอกตัวเมียก้านดอกยาวมักออกเป็นคู่สีเขียวผลกลม ผลสุกสีเหลืองอ่อน เปลือกชั้นนอกจะนิ่มฉ่ำน้ำ เมล็ดค่อนข้างกลมคล้ายเมล็ดพริกไทย

ส่วนที่ใช้ เปลือกต้นสด

ช่วงเวลาที่เก็บ เมื่อต้นเจริญเต็มที่

รส และสรรพคุณยาไทย รสเมาเบื่อ  สรรพคุณ แก้พยาธิผิวหนัง หรือใช้ต้มใส่เกลือให้เค็มเป็นยาอม รักษารำมะนาด (เหงือกบวม)

วิธีใช้ แก้อาการปวดฟัน ใช้เปลือกต้นสด ประมาณ 1 ฝ่ามือ สับเป็นชิ้น ต้มกับน้ำพอควรใส่เกลือให้มีรสเค็ม ต้มนาน 10-15 นาทีเอาน้ำขณะอุ่น อมบ่อยๆ

-------------------------------------------------------------
คูน




คูน

ชื่อท้องถิ่น ลมแล้ง (ภาคเหนือ), ลักเกลือ, ลักเคย (ปัตตานี), ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง), กุเพยะ (กะเหรี่ยง)


ลักษณะของพืช คูนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถีงขนาดใหญ่ ใบรูปไข่ปลายแหลม ดอกเป็นช่อระย้าสีเหลือง และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ฝักรูปร่างยาวกลม ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่จัดเป็นสีน้ำตาล

ส่วนที่ใช้เป็นยา เนื้อในฝักแก่

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บช่วงฝักแก่ เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม

รส และสรรพคุณยาไทย รสหวานเอียนเล้กน้อย สรรพคุณ เป็นยาระบาย ทำให้ถ่ายสะดวก ไม่มวนไม่ไซ้ท้อง

วิธีใช้ เนื้อในฝักคูนแก้อาการท้องผูก โดยเอาเนื้อในฝักแก่เท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) ต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอน หรือตอนเช้าก่อนอาหาร เหมาะเป็นยาระบายสำหรับคนท้องผูกเป็นประจำ
และสตรีมีครรภ์ใช้เป็นยาแก้ท้องผูกได้

---------------------------------------------------------

ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ศเทศ

ชื่อท้องถิ่น ชุดเห็ดใหญ่ (ภาคกลาง) , ขี้คาก , ลับมึนหลวง , หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ) , ส้มเห็ด (เชียงราย) , จุมเห็ด (มหาสารคาม) , ตะลีพอ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)


ลักษณะของพืช ชุมเห็ดเทศเป็นไม้พุ่ม ใบรูปไข่หรือรูปไข่ขอบขนาน ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน เรียงตัวเป็นแบบใบประกอบ ดอกเป็นช่อสีเหลือง ฝักแบนยาว มีปีก 4 ปีก เมล็ดในรูปสามเหลี่ยม

ส่วนที่ใช้เป็นยา ดอกสด , ใบสดหรือแห้ง

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบชุมเห็ดเทศขนาดกลาง ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ต้องเก็บก่อนออกดอกเก็บดอกสดเป็นยา

รส และสรรพคุณยาไทย รสเบื่อเอียน ใบตำทาแก้กลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ดอก และใบต้มรับประทานแก้อาการท้องผูก

วิธีใช้ ใบ และดอกชุมเห็ดเทศใช้เป็นยารักษาโรค และอาการดังนี้

1. ท้องผูก ใช้ดอกขุมเห็ดเทศสด 2 – 3 ช่อ ต้มรับประทานกับน้ำพริก หรือนำใบสดมาล้างให้สะอาดหั่นตากแห้ง ใช้ต้มหรือชงน้ำดื่ม ครั้งละ 12 ใบ หรือใบแห้งบดเป็นผง ปั้นกับน้ำผึ้งเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยครั้งละ 3 เม็ด รับประทานก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการท้องผูก

2. โรคกลาก ใบชุมเห็ดเทศสด ขยี้หรือตำในครกให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อย หรือใช้ใบชุมเห็ดเทศกับหัวกระเทียมเท่าๆกัน ผสมปูนแดงที่กินกับหมากเล็กน้อย ตำผสมกัน ทาบริเวณที่เป็นกลาก โดยเอาไม้ไผ่ขูดผิวให้แดงก่อน ทาบ่อยๆจนหาย หายแล้วทาต่ออีก 7 วัน

3. ฝี และแผลพุพอง
ใช้ใบชุมเห็ดเทศ และก้านสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วมยา แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 ชะล้างบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น ถ้าเป็นมาให้ใช้ประมาณ 10 กำมือ ต้มอาบ

--------------------------------


ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

----------------------------------
อ้างอิง: ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป 
สาขาเภสัชกรรม
กองการประกอบโรคศิลปะ

Credit:  ภาพนำมาจาก internet ซึ่ง share กันใน Google,  Face Book และได้ถ่ายทำเองบ้าง เพื่อการศึกษาแพทย์แผนไทยให้ง่ายขึ้น เป็นการสืบทอดต่อไปยังอนุชน และผู้สนใจ ให้มีความรู้ในการรักษาบำบัดโรคพึ่งพาตนเองได้ ขอขอบคุณเจ้าของภาพ ขอให้อนุโมทนาส่วนบุญกุศล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขัง พลัง และสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงามโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ


ตรวจทานแล้ว


No comments:

Post a Comment